วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าม้ง : อาชีพ

อดีตกาลนั้นม้งอาศัยอยู่บนภูเขา หรือยอดเขาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นระบบเศรษฐกิจของม้งไม่ดี เพราะม้งไม่รู้จักในการทำการเกษตรเพื่อเศรษฐกิจ จะทำการเกษตรเพื่อยังชีพมากกว่า ม้งมีอาชีพอย่างเดียวคือ การเกษตร โดยจะปลูกไว้เพื่อรับประทานในครัวเรือนเท่านั้น เช่น ข้าว และพืชผัก จะไม่มีการซื้อขายด้วยเงินตรา จะมีแต่การแลกเปลี่ยนกันด้วยสิ่งของเท่านั้น ม้งมีวิถีชีวิตที่ยากลำบากมาก เพราะม้งมีความคิดว่า ต้องมีลูกเยอะ ๆ เพื่อตัวเองจะได้สบายในบั้นปลายของชีวิต จึงเป็นเหตุให้ม้งมีชีวิตที่ลำบากมาก ๆ ต้องตรากตรำทำงานหนักในไร่เพื่อมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ในปัจจุบันนี้ ม้งได้ถูกอพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบลุ่ม ทำให้วิถีชีวิตของม้งเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการเป็นอยู่บนภูเขา การเป็นอยู่มีความดิ้นรนมากขึ้น การประกอบอาชีพทางเกษตรจึงมีการปรับเปลี่ยนหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น มีการทำนา ทำไร่ และอื่น ๆ เป็นต้น

การเกษตรกรรม
ม้งในอดีตเกษตรกรรมของม้งส่วนใหญ่จะเป็นการเพาะปลูกเพื่อยังชีพ พืชที่นิยมปลูกได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด ถั่ว ฟักทอง ผักกาดพริก หอม กระเทียม ปอ เท่านั้น ยังไม่นิยมนำมาค้าขาย ใช้วิธีแลกด้วยสิ่งของเท่านั้น (ปัจจุบันการเพาะปลูกฝิ่นยังคงมีหลงเหลือในป่าลึกอยู่บ้าง แต่มีในปริมาณน้อยมาก เป็นการยากที่จะหาชมได้อีกต่อไป) การปลูกไร่ข้าวส่วนมากม้งจะปลูกข้าวบนดอย

ไร่ข้าว นาข้าว

โดยในปัจจุบัน การเกษตรกรรมของม้งบางส่วนจะมีการปลูกข้าวในนาด้วย เพราะเนื่องจากม้งได้อพยพมาตั้งรกราก ในพื้นที่ราบลุ่ม และสามารถที่จะทำนาได้ ซึ่งการทำนาข้าวของม้งนั้นโดยส่วนใหญ่ แล้วม้งจะดำนาไม่เป็น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วม้งจะจ้างให้คนที่มีความชำนาญในการดำนาเป็นคนทำให้ แต่ม้งก็มีความสามารถในการไถ่ว่านเป็นอย่างดี แต่ก่อนนั้นม้งไม่มีเครื่องจักรในการไถ่ว่านข้าว เนื่องจากม้งยังไม่มีเงินในการจัดซื้อเครื่องจักร แต่ปัจจุบันนี้ม้งทั้งที่อยู่ในประเทศลาว และประเทศไทยมีเครื่องจักร ในการไถหว่านแล้ว ดังนั้น การเกษตรกรรมของม้ง บางกลุ่มก็ไม่ค่อยลำบากเท่าที่ผ่านมา แต่ม้งบางกลุ่มที่อยู่ห่างไกลความเจริญก็จะค่อยข้างลำบากมาก ยังไม่เพียงแต่การทำการเกษตรไร่ข้าวเท่านั้น ม้งยังได้รับการพัฒนาที่จะปลูกพืชต่างที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ม้งจะมีการปลูกพืชเพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับตนเอง เนื่องจากว่าปัจจุบันระบบ เศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนไป และม้งมีความต้องการในการใช้เครื่องบริโภคเป็นอย่างมาก ดังนั้นม้ง จึงต้องมีการดิ้นรนเพื่อที่จะได้รายได้มาจุนเจือครอบครัวของตนเอง พืชที่นิยมปลูกส่วนใหญ่มาก ได้แก่ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ มะขาม เลี้ยงไหม และผักที่นิยมปลูกมาเป็นรายได้ ได้แก่ กะหล่ำปลี ขิง ฝ้าย มะเขือเทศ มันสำปะหลัง ซึ่งม้งบางส่วนที่ยังปลูกดอกไม้ขายได้แก่ ดอกคาเนชั่น ดอกกุหลาบ ฯลฯ

สวนมะม่วง

การเลี้ยงสัตว์
ในอดีตม้งมีการเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร โดยไม่ได้ทำคอก หรือล้อมไว้ มักจะปล่อยตามอิสระจึงทำ ให้สัตว์เลี้ยงมีจำนวนน้อย ส่วนมากนิยมเลี้ยง ม้า วัว ควาย หมู ไก่ แพะ แกะ และลา สัตว์ที่ได้รับการ เลี้ยงดูเอาใจใส่เป็นพิเศษ ได้แก่ ม้า เพราะส่วนใหญ่ม้งจะใช้ม้าเป็นพาหนะในการขนย้ายของ หรือบรรทุกของเท่านั้น ส่วนสัตว์ที่ได้รับการดูแลน้อยกว่าสัตว์อื่น ๆ คือสุนัข ยกเว้นสุนัขล่าเนื้อที่มี ความสามารถในการล่าสัตว์เท่านั้น

ในปัจจุบัน ม้งมีการเลี้ยงสัตว์ในระบบใหม่ คือ มีการทำคอก หรือล้อม ให้สัตว์อยู่ในกรง และให้อาหารเป็นเวลา นอกจากนี้ส่วนการบรรทุกของนั้นส่วนใหญ่จะใช้รถในการบรรทุกของแทนม้า ม้งยังรู้จักวิธีการตอน และวิธีการผสมพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่จะให้ได้พันธุ์ดี ๆ อีกด้วย สัตว์ที่เลี้ยงสามารถแยกได้เป็น 3 ประเภท คือสำหรับใช้เป็นอาหาร ใช้งาน และเป็นสินค้า เป็นต้น