ประเพณีท้องถิ่นภาคกลาง - พิธีรำโรง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
02/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

พิธีรำโรง

ภาค      ภาคกลาง
จังหวัด   สระบุรี
ช่วงเวลา ไม่กำหนดแน่นอน

  • ความสำคัญ

การรำโรงเป็นพิธีกรรมคนไทยเชื้อสายมอญนิยมปฏิบัติเพื่อแก้บน เมื่อตนบนสิ่งใด แล้วได้รับผลตามที่ตนบนไว้ก็จะทำพิธีรำโรงเพื่อเป็นการแก้บน ความสำคัญของพิธีกรรมนี้จึงอยู่ที่การรักษาสัจจะวาจาที่ตนให้ไว้ และความภาคภูมิใจที่ตนได้รับความสำเร็จตามที่ตนบนไว้

  • พิธีกรรม

ปลูกโรง เมื่อบนไว้แล้วและประสบผลตามที่บนไว้ ก็จะเริ่มเตรียมรำโรงเพื่อแก้บนนั้น โดยปลูกโรงหรือปะรำขึ้น เป็นโรงไม้มุงด้วยแฝกหรือหญ้าคา รูปทรงหน้าจั่ว กว้างยาวพอสมควร ใช้ไม้พื้นบ้านพอที่จะหาได้ในถิ่นนั้นทำ หันหน้าโรงไปทิศตะวันตก ภายในโรงด้านตะวันออกจะปลูกแค่ไม้ไผ่สูงพอพ้นเอวของผู้ป่วย(ที่บน) เล็กน้อยสำหรับวางเครื่องเซ่น ปีกโรงทิศใต้เป็นที่ตั้งวงปี่พาทย์มอญ พื้นปูด้วยแคร่ไม้ไผ่สับฟาก ผู้ชายจะเป็นฝ่ายร่วมกันสร้างโรงนี้และต้องทำให้เสร็จก่อนวันพิธี ๑ วัน การปลูกสร้างก็ต้องทำให้เสร็จภายใน ๑ วันห้ามสร้างโรงนี้ในชายคาบ้าน เสร็จพิธีแล้วห้ามนำไม้หรือส่วนประกอบของโรงนี้ไปสร้างเป็นที่อยู่อาศัย

เครื่องเซ่น ทำเป็นกระทงจะกี่กระทงก็สุดแต่ที่บนไว้ ใน ๑ กระทงจะต้องมีขนมปู่ย่าตายาย (ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำตาลปี๊บและงาดำ) หมากพลู บุหรี่ กรวยใบตอง ธูปเทียน กล้วยน้ำว้า นำดอกลั่นทมมาเสียบเข้ากับไม้แหลมปักเตรียมทำไว้ นอกนั้นเป็นเครื่องเซ่นตามที่บนไว้ เช่น หัวหมูต้ม ไก่ต้มทั้งตัวหรือนึ่งเหล้าขาว เป็นต้น

พิธีรำโรง เมื่อถึงวันกำหนด ชาวบ้านก็จะมารวมกันที่โรงพิธีแต่เช้า ต้นผี (ผู้กระทำพิธี) เริ่มจุดธูปเทียนเชิญผีบรรพบุรุษ นำเครื่องเซ่นมาวางบนแคร่ ปี่พาทย์บรรเลงไปเรื่อย ๆ ที่กลางโรงจะมีเชือกเส้นใหญ่หุ้มด้วยด้ายดิบสีขาวมัดโยงไว้เพื่อให้ผู้มา ร่วมพิธีโหนโยนตัวเวลาผีเข้า ต้นผีจะนุ่งผ้าโจงกระเบน มีสไบคล้องคอ ประแป้งตามเนื้อตัว บ้างก็ทัดดอกไม้ เจ้าภาพงานต้องเตรียมแต่งตัวนี้ไว้ให้เผื่อบางคนไม่มีเครื่องแต่งตัวดัง กล่าวเมื่อแต่งตัวแล้วก็ไปโหนเชือกที่กลางโรงพิธี โหนวนไปมาสามรอบ ผีที่ได้รับเชิญมาก็จะเข้าสิงผู้นั้น อาการที่เกิดขึ้นก็คือนัยน์ตาเริ่มเหม่อลอย คล้ายครึ่งหลับครึ่งตื่น ไม่มองหน้าใครแล้วกระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนานไปตามเสียงเพลงวงปี่พาทย์ที่ บรรเลงด้วยเพลงที่มีทำนองเร้าใจ จากนั้นก็กระโดดไปเกาะราวหน้าเครื่องเซ่นเต้นบ้าง รำบ้าง หญิงบางคนอาจกระโดดออกนอกโรงพิธีเอาสไบคล้องหญิงอื่นเข้าไปในโรงพิธี หญิงที่ถูกดึง

เข้าไปก็จะเต้นตามไปด้วย ขณะนี้พวกผู้ชายที่เข้าไปในโรงพิธีไม่ได้ ก็จะนั่งอยู่นอกโรงพิธีอาจยั่วเย้าผีอย่างสนุกสนาน หรือหากต้องการให้หญิงใดเข้าไปในโรงพิธี ชายก็จะเอาไม้ตะขาบ (ไม้ไผ่ผ่าซีก) ตีปรบตามจังหวะเพลงใกล้หญิงนั้น หรือจับหญิงนั้นเขย่าไปด้วยไม่นานหญิงนั้นตัวเริ่มสั่น ตาลาย บอกอาการว่าผีเริ่มเข้าแล้วแล้วกระโดดโลดเต้นเข้าโรงพิธี แม้เดิมจะไม่อยากไปก็ตาม เมื่ออยากจะออกจากผีก็จับเชือกโหนวนล้มตัวลงนอนบนพื้น ชั่วอึดใจผีออก มีอากัปกิริยาเหมือนยามปกติ
ครั้นถึงเวลาใกล้เที่ยง เจ้าภาพหรือเจ้าของพิธีก็จะจัดอาหารมาเลี้ยงทุกคนในงาน แต่ห้ามนำอาหารนี้เข้าไปรับประทานในบ้าน ต้องรับประทานใกล้โรงพิธีหรือตามร่มไม้
ในโรงพิธีจะมีต้นกล้วยขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งขุดมาทั้งเหง้า เอาดินออกหมด เมื่อถึงเวลาใกล้พักกลางวันจะทำ "พิธีฟันหยวก" เมื่อทุกคนออกจากโรงพิธีหมดแล้ว ต้นผีจะเข้าโดยโหนเชือกให้ผีเข้า ต้นผีก็จะถือดาบรำไปหาต้นกล้วย เอาดาบฟันที่ต้นกล้วยสองครั้ง ก็จะได้กล้วยเป็นสามท่อน ท่อนปลายเอาออกไปข้างนอก ท่อนโคนเอาออกไปแล้วตัดเหง้ามาทำเป็นกระสุนกลมๆ สมมติว่าเป็น "ลูกหน้าไม้" เอาไว้ยิงไก่ในขั้นตอนพิธีต่อไป กล้วยท่อนกลางแกะเปลือกนอกออกหมดจนเหลือแต่แกน นำไปทำ "ยำหยวก" มาเลี้ยงกันต่อไป

ขณะพักกลางวันจะมี "พิธีกินหมู" โดยต้นผีจะนำหญิงผู้อาวุโส ๕-๖ คน เข้าโรงพิธีจับเชือกโหนให้ผีเข้าทุกกคน ปี่พาทย์บรรเลงเพลงที่มีท่วงทำนองช้า ผู้ที่ผีเข้าเหล่านี้กายจะสั่น นัยน์ตาครึ่งหลับครึ่งตื่น เดินช้าๆมานั่งล้อมวงกัน หญิงอื่นช่วยกันนำเครื่องเซ่นที่วางไว้บนแคร่มาเลี้ยงผีที่กำลังนั่งกันเป็น วง เป็นการเลี้ยงผีปู่ย่า อาจมีการถามกันว่าผีที่มาสิงผู้นี้เป็นใคร อยู่ดีอย่างไร ผีก็จะบอกชื่อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นที่น่าแปลกใจยิ่ง เพราะผู้ถูกผีสิงนั้นไม่เคยรู้จักผู้นั้นมาก่อนเลย เสร็จจากพิธีกินหมูก็ออกจากโรงพิธี

ตอนบ่ายผีรำโรงสนุกสนานเช่นเดียวกับตอนเช้า ประมาณบ่าย ๒-๓ โมงก็จะทำพิธีต่อไก่ โดยได้เตรียมหาไก่ตัวผู้ ๑ ตัวมาไว้ล่วงหน้าแล้ว ไก่นี้มักไปจับมาจากในวัดก่อนงานพิธี ๑ วัน นำมาขังไว้ในสุ่มก่อน เมื่อถึงพิธีต่อไก่ก็นำไก่มาล่ามขาผูกไว้ที่หลักหน้าโรงพิธี ต้นผีก็จะเข้าผีแต่งตัวเป็นนายพราน ถือหน้าไม้ทำด้วยไม้ไผ่มีสายอย่างธนู เดิน (อาจรำ) มายังไก่ที่ผูกไว้ ล้วงย่ามเอาข้าวเปลือกมาหว่านให้ไก่กิน ไก่จะกินหรือไม่กินไม่สำคัญ จากนั้นก็ล้วงย่ามเอากระสุนที่ทำด้วยเหง้าหยวกกล้วย มาใส่หน้าไม้ยิงไปที่ไก่สามลูก แล้วเสร็จกลับเข้าโรงพิธี ส่วนไก่นำไปส่งคืนที่วัดตามเดิม ต้นผีนำมะพร้าวผลที่ทำพิธีตั้งมะพร้าวในตอนต้น ออกมาหน้าโรงพิธี แล้วทุ่มมะพร้าวลงบนกระดานที่ปูไว้โดยแรงจนมะพร้าวแตก ถ้าไม่แตกก็ทุ่มอีก ผู้คนก็จะแย่งผลมะพร้าวนั้นไปกิน จากนั้นต้นผีก็จะนำน้ำที่เตรียมไว้มารดอาบให้แก่ผู้ที่บนไว้ เพื่อเป็นการขับไล่เสนียดออกจากผู้นั้น
เสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต ถือว่าต่อไปนี้เป็นการเริ่มชีวิตที่ดีสืบไป

ที่หัวท้ายของโรงพิธีจะมีธงเล็กๆ สีขาวสีแดงอย่างละ ๑ ผืน มีกาบกล้วยทำเป็นเรือวางไว้ด้วย เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วก็จะทำ "พิธีส่งเรือ" เรือหนึ่งลำใช้ชายสองคน มีผ้าขาวม้าเคียนศีรษะ คนหน้าถือคันธงโบกไปมาคนหลังแบกเรือกาบกล้วย แล้วโห่นำเรือออกไปจากบ้าน ทำนองว่าได้นำเคราะห์ นำความอับโชคใส่เรือไปทิ้งที่ไกล

ถึงขั้นตอนนี้ถือว่าเสร็จพิธีรำโรง จากนั้นก็ช่วยกันรื้อโรง เริ่มที่หัวหน้าวงปี่พาทย์มอญจะแก้เชือกและด้ายดิบออกจากกัน ผู้คนจะแย่งเครื่องเซ่นกันชุลมุน ถือว่าเครื่องเซ่นนั้นเป็นของเหลือเดนจากผีบรรพบุรุษของตนกินและมอบให้ลูก หลานนำไปกินต่อไป ถือว่าได้กินสิ่งที่เป็นมงคล แต่อย่างไรก็ตามเครื่องเซ่นเหล่านี้เจ้าภาพจะเตรียมจัดแบ่งให้ทั่วหน้า เช่น ให้ผู้เป็นต้นผีให้หัววงปี่พาทย์ พวกผู้ชายก็ช่วยกันรื้อโรง อุปกรณ์ที่รื้อออกมานี้นำไปใช้อย่างอื่นได้ แต่ห้ามนำมาเป็นส่วนประกอบของอาคารที่อยู่อาศัย

  • สาระ

ที่มาของพิธีนี้มาจากความเชื่อที่ว่า คนเราตายแล้ววิญญาณจะไม่สูญไปไหน โดยเฉพาะวิญญาณของบรรพบุรุษจะอยู่ดูแลรักษาลูกหลานของตน เมื่อเซ่นไหว้ดีและถูกต้องท่านก็จะช่วยเหลือในเวลาเดือดร้อนพิธีนี้เป็นการ เชื่อมโยงระหว่างวิญญาณของผู้อยู่กับวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว ได้สร้างความสำนึกในพระคุณของบรรพบุรุษ ญาติและเพื่อนบ้านให้มั่นคงอีกด้วย