ประเพณีท้องถิ่นเหนือ - งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ

ภาค      ภาคเหนือ
จังหวัด   นครสวรรค์
ช่วงเวลา ประมาณปลายเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี (วันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑ ของจีน)

  • ความสำคัญ

มีงานประเพณีที่สำคัญของท้องถิ่นที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาของชาวปากน้ำโพ เพื่อเป็นการเคารพสักการะเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ มีความเป็นมาดังนี้คือ เมื่อประมาณ ๗๐ กว่าปีที่ผ่านมาได้เกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ขึ้น ชาวบ้านปากน้ำโพได้รับความเดือดร้อน เจ็บป่วยล้มตายกันมาก สมัยนั้นการแพทย์ยังไม่เจริญเหมือนกับปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดจึงได้มีชาวบ้านเข้าไปบนบานกับเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ให้ ช่วยรักษาให้พ้นจากโรคร้าย

เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ได้ช่วยเหลือโดยการเข้าร่างผู้ที่เป็นร่างทรงและเขียนยันต์หรือที่ชาวจีน เรียกว่า ฮู้ เผาไฟใส่น้ำ ให้ชาวบ้านดื่มกินเป็นที่อัศจรรย์โรคร้ายหายไป ชาวบ้านอยู่กันอย่างมีความสุข ความเจริญยิ่งขึ้น จึงเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ดังนั้น ชาวตลาดปากน้ำโพจึงได้มีการร่วมแรงร่วมใจกันจัดประเพณี การแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพขึ้นโดยจัดให้มีขบวนแห่เจ้า เป็นขบวนใหญ่โตมโหฬาร เช่นขบวนของเจ้าแม่กวนอิม โดยการคัดเลือกสาวงามที่มีคุณสมบัติให้เป็นตัวแทนของเจ้าแม่กวนอิม ขบวนเองกอ ล่อโก้ว ขบวนนางฟ้า สาวงามถือธง เด็กหญิงน้อย ๆ หาบกระเช้าดอกไม้ การเชิดสิงโต ของสมาคมต่าง ๆในจังหวัดนครสวรรค์ ขบวนอัญเชิญเจ้าและผู้เข้าทรง บางปีก็มีการลุยไฟ และขบวนที่ขาดเสียไม่ได้และเป็นจุดเด่นของงานทุกปี ก็คือ ขบวนแห่มังกร ซึ่งการเชิดมังกรทองที่จังหวัดนครสวรรค์มีชื่อเสียงมากในด้านความสวยงาม และการแสดงที่ตื่นเต้นเร้าใจ