วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

กิ๋นสลาก

ภาค      ภาคเหนือ
จังหวัด   แพร่
ช่วงเวลา จัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม-กันยายน ของทุกปี

  • ความสำคัญ

กิ๋นสลากเป็นประเพณีการทำบุญกิ๋นตานไปหาญาติผู้ล่วงลับ โดยถวายก๋วยสลากผ่านผู้ทรงศีล และเป็นการทำบุญเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงออกถึงความเสียสละและความสามัคคีของคนในชุมชน

  • พิธีกรรม

เมื่อกำหนดวันกิ๋นสลากแล้วจะบอกบุญไปยังหัววัดต่างๆ ที่ใกล้เคียง และชาวบ้านมาร่วมงานบุญ บ้างขายข้าวขายผลิตผลทางการเกษตร จัดเตรียมตัดเสื้อผ้าใหม่ ซื้อข้าวของ เอาไม้ไผ่มาจักเป็นตอกสานก๋วยสลาก ในวันก่อนวันงานเรียกว่า วันดาสลาก จะมีการทำขนม ข้าวปลาอาหารเป็นห่อๆ ผลไม้สำหรับบรรจุลงในก๋วยสลาก ซึ่งจะมีก๋วยสลากน้อย ก๋วยโจคสำหรับจับเส้นสลาก และกัณฑ์สลากหลวงเป็นกัณฑ์จูดสำหรับถวายวัด บางวัดนิยมนำเครื่องไทยทานบรรจุในถังพลาสติก ที่วัดพระธาตุช่อแฮมีการบรรจุเครื่องไทยทานในหม้อดินเผาและจะใช้ใบลานหรือ กระดาษเขียนคำอุทิศส่วนกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับ ก๋วยละ ๑ ใบ ในวันงานชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าถุงหาอาหารห่อใส่ก๋วยสลาก บ้างก็นำก๋วยสลากไปวางบนโต๊ะที่เตรียมไว้ในบริเวณวัด บ้างก็

นำก๋วยเข้าร่วมขบวนแห่กัณฑ์สลากหลวงที่ทำจากไม้ไผ่แต่งเป็นชั้นๆ ในขบวนจะมีการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน ขบวนฟ้อนพื้นเมือง ฟ้อนประยุกต์ ดนตรีพื้นเมือง เป็นที่ สนุกสนาน เมื่อไปถึงวัดจะตั้งกัณฑ์สลากที่บริเวณลานวัด และนำเส้นสลากไปรวมปนกันในโบสถ์เพื่อแบ่งปันให้กับพระสงฆ์และสามเณรตามสัด ส่วนอันสมควรต่อไป ระหว่างรอขบวนหัววัดต่างบ้าน จะมีการสวดมนต์ไหว้พระภายในโบสถ์ ถวายเพล รับพรพระพอเสร็จพิธีในโบสถ์แล้ว พระสงฆ์และสามเณรพร้อมด้วยศิษย์วัดจะนำเส้นสลากเดินไปหาเจ้าของก๋วยสลาก เมื่อหาพบแล้วพระจะอ่านเส้นสลาก ดังตัวอย่าง นายตา ติ๊บอ๊ะ จะตานไปหานางน้อย ติ๊บอ๊ะ ผู้เป็นแม่ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว ขอหื้อนาบุญนี้ได้ส่งไปฮอดไปถึงจิ่มแต้ดีหลีเต๊อะ เจ้าของ ก๋วยสลากรับเส้นสลากพร้อมถวายก๋วยสลาก พระให้พร จากนั้นก็ไปหาก๋วยสลากเส้นอื่นต่อไปจนกว่าจะหมด บางครั้งเจ้าของก๋วยก็อาจให้ลูกหลานเดินหาเส้นสลากของตนจากพระโดยฟังจากการ อ่านเส้นของพระเพื่อให้เร็วขึ้น

  • สาระ

ประเพณีทำบุญกิ๋นสลาก เป็นการทำบุญที่ก่อให้เกิดผลทางจิตใจในระดับสูงขึ้นวิธีหนึ่ง แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในการหาอุบายที่จะฝึกคนให้รู้จักการให้ โดยไม่มีสิ่งแอบแฝงเพราะการเตรียมก๋วยสลากเจ้าของจะไม่ทราบว่าก๋วยสลากนี้จะ ถวายพระรูปใด จึงเป็นการทำบุญ ทำทานที่บริสุทธิ์ใจอย่างยิ่ง จึงเป็นประเพณีที่ควรอนุรักษ์และปฏิบัติสืบทอดต่อไป