ประเพณีท้องถิ่นเหนือ - ประเพณีทานขันข้าว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีทานขันข้าว

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  ลำปาง

  • ช่วงเวลา

เทศกาลสงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา

  • ความสำคัญ

ประเพณีทานขันข้าว คือ ประเพณีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ไปแล้ว เป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความกตัญญูอีกแบบหนึ่งของชาวไทย โดยนำสำรับกับข้าวไปถวายวัดในวันเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ เข้าพรรษาและออกพรรษา หรือทำบุญอุทิศส่วนกุศลในโอกาสอื่นๆ

  • พิธีกรรม

ก่อนวันทำบุญ มีการจัดเตรียมอาหาร หวาน คาว นำเอาใบตองมาเย็บทำสวย (กรวย) สำหรับใส่ดอกไม้ ธูป และเตรียมขวดน้ำหยาด (สำหรับกรวดน้ำ)

รุ่งขึ้นอันเป็นวันทำบุญ เวลาประมาณ ๖.๓๐-๘.๐๐ น. ทุกครัวเรือนเตรียมอุ่นอาหารและบรรจุใส่ปิ่นโต พร้อมทั้งสวยดอกไม้และน้ำหยาด บางบ้านอาจเขียนชื่อผู้ที่ตนต้องการจะ ทานไปหา (อุทิศส่วนกุศลไปให้) ลงในกระดาษ จากนั้นคนในครอบครัวจะช่วยกันหิ้วปิ่นโตไปวัด

วัดจะจัดสถานที่สำหรับให้ศรัทธาชาวบ้านนำปิ่นโตมาถวาย การประเคนปิ่นโต มักจะเอาสวยดอกไม้เสียบไปพร้อมกับปิ่นโต บ้านที่มีกระดาษจดรายชื่อผู้ที่จะทำบุญไปให้ก็จะเอากระดาษเหน็บติดไปกับ ปิ่นโตด้วย พร้อมกันนั้นก็เทน้ำหยาดจากขวดใส่ลงในขันที่วางอยู่หน้าพระสงฆ์

เมื่อศรัทธาชาวบ้านมากันพอสมควรแล้ว พระสงฆ์ก็จะมีโวหารกล่าวนำการทำบุญ และให้พรดังนี้
- แสดงความชื่นชมที่ศรัทธาชาวบ้านได้ช่วยกันรักษาจารีตแต่โบราณ
- กล่าวถึงผู้รับของทาน พระสงฆ์อ่านชื่อผู้วายชนม์ตามที่ศรัทธาเขียนมาในแผ่นกระดาษ ส่วนบางคนที่ไม่ได้เขียนมา ก็จะเอ่ยว่าการทานครั้งนี้มีไปถึง บรรพบุรุษ เจ้ากรรมนายเวร เทวบุตร เทวดา แม่พระธรณี เจ้าที่เจ้าทาง สรรพสัตว์ ฯลฯ
- กล่าวให้มารับของทาน มารับเอาทานครั้งนี้ หากมารับไม่ได้ ให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้นำไปให้
- อวยพรให้แก่ผู้มาทำบุญ ทานขันข้าว
- กล่าวยถา สัพพี

ในการให้พรนั้นหลังจากจบคำว่า อายุ วัณโณ สุขัง พลัง ศรัทธาชาวบ้านจะกล่าวสาธุพร้อมกัน จากนั้นจึงรับเอาปิ่นโตไปให้สามเณรหรือเจ้าหน้าที่จัดการเทอาหารออก เป็นอันเสร็จพิธีทาน

  • สาระ

การทานขันข้าว นอกจากจะเป็นการทำบุญ ที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษแล้ว การประกอบอาหารก็ดี การไปทำบุญร่วมกันที่วัดก็ดี เป็นกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวเกิดความรัก ความอบอุ่น ประการสำคัญ การพาเด็ก ๆ ไปทานขันข้าวที่วัด นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมการทำบุญแล้ว ยังเป็นการสืบทอดในเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยไม่ต้องใช้วิธีอบรมสั่งสอน แต่เป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ได้ปฏิบัติตนให้ลูกหลานได้เห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นวิธีสืบทอดหรือการสอนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องมีการพูดแต่อย่างใด