ประเพณีท้องถิ่นเหนือ - ประเพณีปอยหลวง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีปอยหลวง

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  ลำพูน

  • ช่วงเวลา

ประเพณีปอยหลวง มักจะจัดขึ้นตั้งแต่เดือน ๕-๘ เหนือ (เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม) งานนี้จะจัดขึ้นประมาณ ๓-๗ วัน แล้วแต่ฐานะของวัดนั้นๆ

  • ความสำคัญ

ประเพณีปอยหลวง คือ งานฉลองถาวรวัตถุ หรือสิ่งก่อสร้างที่ประชาชนช่วยกันสร้างขึ้นเพื่อถวายวัดและเพื่อประโยชน์ แก่สาธารณะชน เช่น วิหาร ศาลา โรงเรียน หอประชุม เป็นต้น นิยมทำการฉลองครั้งใหญ่หลังจากการก่อสร้างสำเร็จแล้ว ทำเป็นงานใหญ่โตเรียกว่า ปอยหลวง อุทิศสิ่งก่อสร้างเป็นของสงฆ์ และอุทิศบุญกุศลแก่บรรพชนด้วย ถ้าทำส่วนตัวเรียกว่า อุทิศกุศลไว้ภายหน้า หากอุทิศแก่คนตายไปแล้ว เรียกว่าอุทิศไปหาผู้ที่ถึงแก่กรรม

  • พิธีกรรม

ก่อนวันงาน ๑ วัน จะมีการเตรียมของเรียกว่า วันดา (วันสุกดิบ) วันนี้คณะศรัทธาจะนำของมารวมกันเรียกว่า ฮอมครัว และในวันแรกของงานปอยหลวง จะมีการทานธงแบบต่างๆ ซึ่งเมืองเหนือเรียกว่า ตุง ช่อธงยาวและช่อช้าง จะนำตุงไปปักไว้บนเสาไม้ไผ่หรือไม้ซาง ตลอดแนวสองข้างทางเข้าวัด ตุงจะทำด้วยผ้าแพรหรือผ้าฝ้ายสีต่างๆอย่างสวยงาม ในงานปอยหลวงจะมีการแห่แหนเครื่องไทยทานจากหัววัดต่างๆ ไปร่วมทำบุญด้วยเรียกว่า แห่ครัวทาน ขบวนแห่ครัวทานจะมีช่างฟ้อนสาวรูปร่างสวยงาม แต่งกายแบบพื้นเมือง ฟ้อนนำหน้าครัวทานเข้าวัดด้วย วันสุดท้ายของงานปอยหลวง คณะศรัทธาจะแห่ครัวทาน หรือพุ่มเงินบ้านละต้นหรือหลายบ้านรวมเป็นหนึ่งต้น ครัวทานนี้จะมีการแห่กันตอนเย็น มีขบวนแห่อย่างสนุกสนาน กลางคืนจะมี
พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ มีการสวดสมโภชหรือสวดเบิก และมีการสวดถึงอานิสงส์ของการก่อสร้าง วันรุ่งขึ้นมีการตักบาตร ถวายภัตตาหาร และกล่าวโอกาสเวนทานสิ่งปลูกสร้างขึ้น เสร็จแล้วถวายไทยทานพระสงฆ์ที่มาร่วมพิธี พระให้ศีลให้พรเป็นเสร็จพิธี

  • สาระ

เป็นการแสดงความยินดีที่ทุกคนในหมู่บ้านได้ร่วมกันสร้างถาวรวัตถุที่เป็น ประโยชน์แก่วัดและสาธารณะ รวมทั้งอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการระลึกถึงพระคุณของท่านเหล่านั้น