วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ลูกโยน หรือลูกช่วง

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  กำแพงเพชร

  • อุปกรณ์การเล่นและวิธีการเล่น

อุปกรณ์การเล่น
ลูกโยน ทำด้วยผ้าผืนเช่น ผ้าขาวม้า นำมาม้วนพันชายข้างหนึ่งแล้วห่อมัดด้วยชายอีกข้างหนึ่ง ต้องมัดให้เหลือชายผ้าสำหรับจับโยน ๑ ลูก แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย นิยมให้ฝ่ายหนึ่งเป็นชายอีกฝ่ายหนึ่งเป็นหญิงจำนวนผู้เล่นฝ่ายละประมาณ ๕-๑๐ คนขีดเส้นกั้นแดนมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล่วงข้ามแดนกัน

วิธีการเล่น มี ๔ ขั้นตอน ดังนี้
๑. การเริ่มต้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้เริ่มโยนลูกโยนก่อนก็ได้ ถ้าฝ่ายชาย เป็นฝ่ายเริ่ม ฝ่ายชายก็จะโยนลูกโยนข้ามไปยังแดนฝ่ายหญิง หากไม่มีผู้ใดรับลูกโยนได้ ลูกโยนตกถึงพื้น ฝ่ายหญิงจะหยิบลูกโยนขึ้นมาโยนกลับไปยังฝ่ายชาย แต่หากฝ่ายหญิงรับลูกโยนได้ก่อนตกถึงพื้น ก็จะขว้างลูกโยนข้ามไปให้ถูกตัวฝ่ายชายถ้าขว้างไปแล้วไม่ถูกใคร และลูกโยนตกถึงพื้น ฝ่ายชายจะหยิบลูกโยนขึ้นมาโยนกลับไปข้างฝ่ายหญิง สลับกันไปมา
๒. สภาพเป็นเชลย หากผู้เล่นคนใดปล่อยให้ลูกโยนที่ฝ่ายตรงข้ามรับได้และขว้างกลับมาถูกส่วนใด ส่วนหนึ่งของร่างกาย ผู้เล่นคนนั้นจะตกเป็นเชลยของฝ่ายตรงข้าม ต้องข้ามแดนไปยืนคอยรับลูกช่วงในแดนฝ่ายตรงข้าม เชลยต้องพยายามหลบหลีกจากการป้องกันของฝ่ายตรงข้ามเพื่อจะรับลูกโยนที่ฝ่าย ตนพยายามโยนมาให้ ขณะเดียวกัน ฝ่ายเจ้าของเชลยก็ต้องพยายามกันไม่ให้เชลยรับลูกโยนได้
๓. การพ้นสภาพเชลย เมื่อเชลยรับลูกโยนที่โยนมาจากฝ่ายของตนได้เมื่อใด ก็จะทำให้ลูกโยนนั้นไปสัมผัสฝ่ายตรงข้าม จะโดยวิธีตี หรือขว้างก็ได้ แต่ต้องระวังไม่ให้ลูกโยนสัมผัสพื้นก่อนสัมผัสฝ่ายตรงข้าม มิฉะนั้นจะหมดสิทธิ์พ้นการเป็นเชลยในคราวนั้น เมื่อลูกโยนสัมผัสร่างกายผู้ใด ผู้นั้นก็จะกลายเป็นเชลยของอีกฝ่ายหนึ่ง สลับกันไปมาและจะพ้นสภาพการเป็นเชลยได้ในกรณีเดียวกัน
๔. การสิ้นสุดการละเล่น เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกเป็นเชลยจนไม่มีผู้เล่นเหลือในแดนของตนแล้ว ฝ่ายนั้นจะเป็นฝ่ายแพ้ และถูกปรับให้ทำตามที่ฝ่ายชนะต้องการ

  • โอกาสที่เล่น

นิยมเล่นในช่วงงานประเพณีสงกรานต์ เวลากลางวัน หรือเวลาเย็น

  • คุณค่า

ผู้เล่นได้รับความสนุกสนาน กระบวนการเล่นเสริมสร้างความสามัคคี ความรักพวกพ้องและรู้จักช่วยเหลือพวกพ้องเมื่อมีภัย เป็นการส่งเสริมความมั่นคงในสังคม