วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

การซอพื้นเมือง

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  ลำพูน

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

การซอพื้นเมือง มีลักษณะเป็นเพลงโต้ตอบระหว่างชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง เรียกว่า คู่ถ้อง มีดนตรีประกอบได้แก่ ปี่ ซึ่งมีเป็นชุดเรียก ปี่ชุม ทำด้วยไม้ไผ่ลำเดียวตัดเป็นท่อนๆให้ได้ ๔ ขนาดตามลำดับ ประกอบด้วย
ปี่เค้า (ปี่แม่) เป็นปี่ขนาดใหญ่ สำหรับทำเสียงคลอเพื่อให้เกิดผสมกลมกลืนกัน
ปี่กลาง เป็นปี่เสียงกลางสำหรับสร้างทำนองเพลง
ปี่ก้อย เป็นปี่เสียงเล็กที่เป็นเสียงนำ
ปี่ตัด เป็นปี่ที่มีขนาดเล็กที่สุด ใช้แทรกทำนองหรือแทรกเสียงเพื่อให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น
นอกจากนี้อาจจะมีซึงและสะล้อด้วยก็ได้

  • ทำนองที่ใช้ประกอบการซอ

แบ่งเป็นประเภทซอที่ไม่มีคำร้องประกอบมีหลายทำนอง เช่น ปราสาทไหว ล่องแม่ปิง ฤาษีหลงถ้ำลาวเดินดง แหย่งหลวงพม่า กุหลาบเชียงใหม่ สาวไหม ล่องน่าน และประเภทที่มีการขับร้องประกอบทำนอง เช่นเพลงตั้งเชียงใหม่ ละม้ายเชียงแสน จะบุ๊(จาวปุ) อื่อ เงี๊ยว พระลอ (หรือลองน่าน) และพม่า (ทำนองพิเศษที่มีทำนองแตกต่างจากพม่าที่บรรเลงโดยไม่มีคำร้องประกอบ)

  • โอกาสที่เล่น

ใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น การซอในพิธีไหว้ครูซอ การซอในพิธีเข้าพรรษา การซอขึ้นบ้านใหม่ การซอมัดมือแต่งงาน การซอในงานบวชลูกแก้ว (นาค) และการซอในงานปอยต่างๆ

  • คุณค่าของซอ

เนื้อหาของซอเป็นเรื่องราวทั้งที่เกี่ยวกับพิธีกรรม และเรื่องราวในชีวิตประจำวัน หากได้ศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบด้านก็จะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่อง เกี่ยวกับภาษาล้านนา ค่านิยม ความเชื่อ ฯลฯ ของสังคมล้านนาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น