วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ช่วงรำ

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  ฉะเชิงเทรา

    * อุปกรณ์การเล่นและวิธีการเล่น

อุปกรณ์การเล่น
ลูกช่วงที่ทำด้วยผ้าขาวม้าผูกขมวดกันเป็นลูกกลม ๆ ให้แน่น เหลือชายผ้าไว้ประมาณ ๒ คืบ สำหรับถือ โยน หรือขว้างได้

    * วิธีการเล่น

แบ่งหญิงชายออกเป็น ๒ ฝ่าย ๆ ละ ๕-๖ คน ฝ่ายเล่นจะขึ้นขี่หลังอีกฝ่ายหนึ่งหันหน้าเข้าหากัน ล้อมเป็นวงกลม พอขี่หลังยืนตั้งหลักได้ก็เริ่มโยนลูกช่วงให้แก่กันไปรอบ ๆ วง หากเมื่อใดที่รับพลาดลูกช่วงตกถึงพื้น ฝ่ายเล่นที่ขี่บนหลังจะต้องรีบลงและวิ่งหนีกระจายออกไปให้พ้น เพราะเมื่อลูกช่วงตกฝ่ายที่ให้ขี่จะหยิบขึ้นมา แล้วขว้างปาให้ถูกฝ่ายเล่นคนใดคนหนึ่งให้ได้
ถ้าฝ่ายเล่นคนใดคนหนึ่งถูกช่วงปาโดน ผู้เล่นทั้งหมดก็จะเข้ามายืนกลุ่มอยู่กลางวง ฝ่ายที่ให้ขี่หลังจะยืนล้อมรอบเป็นวงกลม ฝ่ายเล่นจะต้องร้องระบำให้อีกฝ่ายหนึ่งรำ เมื่อจบเพลงก็เริ่มเล่นโยนลูกช่วงรำ โดยฝ่ายเล่นกลับมาเป็นฝ่ายให้ขี่บ้าง พอขี่หลังยืนตั้งหลักได้ก็เริ่มโยนลูกช่วงให้แก่กันไปรอบ ๆ วง

    * โอกาสที่เล่น

นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ เป็นการละเล่นของชาวไทยเชื้อสายเขมรที่บ้านหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว โดยหลังจากทำบุญสรงน้ำพระแล้ว ชาวบ้านจะพากันไปรวมตัวที่ลานวัดโคนต้นไม้ใหญ่ เพื่ออาศัยร่มเงาเล่นการละเล่นต่าง ๆ

    * สาระ

ในอดีตกิจกรรมที่สามารถเป็นสื่อชักนำให้หนุ่มสาวได้มาพบหน้ากันก็คืองานบุญ และการละเล่นหลังทำบุญการเล่นช่วงรำก็เช่นกัน ทำให้หนุ่มสาวได้พบหน้าเกี้ยวพาราสีและสนุกสนานด้วยกัน แต่ปัจจุบันคนหนุ่มสาวมีโอกาสพบกันโดยไม่มีข้อจำกัดการเล่นช่วงรำของผู้สูง อายุชาวไทยเชื้อสายเขมรนี้ จึงเป็นเล่นเพื่อการอนุรักษ์วิถีชีวิตแห่งอดีตไว้ ให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้และสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม