วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เพลงเรือบก

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  ชัยนาท

  • อุปกรณ์การเล่น

ดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ มี กลอง ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง
เพลงที่ใช้ร้องโต้ตอบกัน ใช้เพลงเรือ และเพลงพื้นบ้านเก่า ๆ สมัยโบราณมาประยุกต์ เนื้อเพลงแบบพื้นบ้านที่ชาวบ้านคิดขึ้นเอง

การแต่งกาย ชาย นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าคล้องไหล่ หญิง นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก มีสไบห่มทับ

  • วิธีการเล่น

การเล่นเพลงเรือบก ประยุกต์มาจากการแข่งเรือในแม่น้ำมาเป็นการแข่งเรือบกแทน และเปลี่ยนจากพายเรือเป็นการวิ่งอยู่ในเรือจำลอง ซึ่งในครั้งแรก ๆ ทำด้วยทางมะพร้าวครึ่งหนึ่ง และใช้มือถือไว้ ต่อมาเปลี่ยนเป็นไม้รวกและไม้ไผ่ทำเป็นเรือจำลอง และเพื่อให้งดงามขึ้นก็ปิดกระดาษตบแต่งลำเรือ ส่วนผู้เล่นเพลงเรือก็แต่งกายงดงามเหมือน ๆ กันด้วย ซึ่งมีลำละ ๗-๘คน ปรากฏว่าในการแข่งขันมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะผู้วิ่งอยู่ในเรือจำลองแต่ละลำวิ่งช้าบ้าง วิ่งเร็วบ้าง จึงได้ดัดแปลงใหม่ให้มีการร้องเพลงเรือโต้ตอบกัน ใช้จังหวะการพาย การเดินให้สวยงามประกอบเนื้อร้องด้วย และเนื่องจากเล่นบนบก จึงเรียกว่า "เพลงเรือบก"

  • โอกาสหรือเวลาที่เล่น

เพลงเรือบกจะเล่นกันในงานเทศกาลต่าง ๆ

  • คุณค่า/แนวคิด/สาระ

เพลงเรือบกนี้ เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวบ้านวัดสกุณาราม (วัดนก) ตำบลบางขุด หมู่ที่ ๑ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่แปลกกว่าที่อื่น ๆ ปัจจุบันชาวบ้านวัดนก ได้ถ่ายทอดการเล่นเพลงเรือบกแก่เยาวชนในท้องถิ่น และมีการแสดงในเทศกาลต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อเชื่อมความสามัคคีและเพื่อความเพลิดเพลิน