การละเล่นพื้นบ้านภาคกลาง - เพลงระบำหรือเพลงระบำ(บ้านนา)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เพลงระบำหรือเพลงระบำ(บ้านนา)

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  นครนายก

  • อุปกรณ์ และวิธีการเล่น

อุปกรณ์การเล่น
เพลงระบำ(บ้านนา) ไม่มีอุปกรณ์การเล่น ใช้การปรบมือเป็นจังหวะเท่านั้น

วิธีการเล่น

๑. ผู้เล่นแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เรียกว่าพ่อเพลงและแม่เพลง มีลูกคู่ประมาณ ๒-๕ คนขึ้นไป
๒. เริ่มร้องโดยมีเนื้อหาในการดำเนินเรื่องเป็นชุด ๆ ตั้งแต่ไหว้ครูชาย เกริ่นชวนหญิงออกมารำ แม่เพลงไหว้ครู เริ่มว่าบทแต่งตัว ซึ่งหมายความว่าจะออกไปพบ จากนั้นจึงร้องโต้ตอบกันไปอาจมีบทเบ็ดเตล็ด เช่น แฝง(แขวง) นา ไก่ ปรุงอาหาร เกวียน หรือเล่นเป็นเรื่องราว เช่น สิงหไตรภพ สังข์ทอง เป็นต้น เมื่อจะจบมีบทลาจาก
๓. ขณะเล่นมีการร้องเพลงและปรบมือให้จังหวะขอลูกคู่และจะร้องรับว่า แถวรำเจ้าเอย รำเอย รำแน่ะ ไม้ลาย เขารำงามเอย พ่อเพลงฝ่ายชายร้องลูกคู่ชายจะรับสอดว่าชาไว้ ส่วนลูกคู่หญิงมักรับว่า ฉาดซา หรือ ชาไว้

  • โอกาสที่เล่น

นิยมเล่นในงานตรุษสงกรานต์ งานสารท งานบวช และงานรื่นเริงอื่น ๆ เวลาที่เล่นตั้งแต่เวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกาขึ้นไป

  • คุณค่า/แนวคิด

ผู้เล่นได้รับความสนุกสนาน ฝึกปฏิภาณไหวพริบ สร้างความรัก สามัคคีในหมู่คณะ ส่งเสริมความมั่งคงในสังคม และรักษาประเพณีและวิถีชีวิตไว้

ในปัจจุบันมีผู้เล่นน้อยมาก พ่อเพลงแม่เพลงมีอายุมากถึง ๗๐-๘๕ ปี มีพ่อเพลงคือ นายแสวง ดอกบัว แม่เพลงนางมะลิ มูลศรี เป็นต้น หมู่บ้านยังมีการละเล่นพื้นเมือง ระบำ (บ้านนา) อยู่คือ ตำบลบางลูกเสือ อำเภอองครักษ์ หมู่บ้านป่าสั้นและบางหมู่บ้านในอำเภอปากพลี
ดังนั้นจึงควรอนุรักษ์ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา เช่น นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งโรงเรียนนครนายกวิทยาคม ได้ฝึกสอนนักเรียนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙ แล้ว