วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เพลงปรบไก่

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  นครปฐม

เพลงปรบไก่ เป็นการละเล่นบ้านของชาวบ้านจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีเล่นอยู่ที่ ตำบลสระกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ผู้ที่เป็นแม่เพลง ในการเล่นเพลงปรกไก่ ชื่อนางกุหลาบ เครืออยู่ อยู่บ้านเลขที่ ๑๖ หมู่ที่ ๘ ตำบลสระกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

เริ่มต้นด้วยผู้เล่นเพลงปรบไก่ประมาณ ๑๐ คน นั่งยอง ๆ ลง ตรงบริเวณลานหน้าบ้านหรือลานวัดหรือหน้าศาลเจ้าที่มาแก้บน พนมมือ แล้วแม่เพลงจะร้องบทไหว้ครู โดยแม่เพลงร้องนำแล้วลูกคู่ตามทีละวรรค เมื่อจบบทไหว้ครูแล้วจะลุกขึ้นยืนเป็นวงกลม แล้วเริ่มร้องเพลงปรบไก่โดยแม่เพลง หรือพ่อเพลงจะเป็นผู้ร้องลูกคู่จะปรบมือเป็นจังหวะ และในตอนจบบทลูกคู่จะร้องเพลงรับว่า "ฉา ตะละลา ฉาฉา ฉาฉา ชะ" แล้วร้องทวนวรรคสุดท้ายที่จบบทด้วยในขณะที่ร้องเพลงทุกคนจะเดินช้า ๆ เข้าจังหวะที่ปรบมือเดินเป็นวงไปเรื่อย ๆ เนื้อร้องเพลงปรบไก่บทหนึ่งจะมี ประมาณ ๓-๔ บท และลูกคู่จะต้องรับทุกบท เมื่อจบบทของทำนองเพลงปรบไก่ ๓-๔ บท ทุกคนก็จะหยุดเดินและแม่เพลงหรือพ่อเพลงก็จะร้องส่งเพลง โดยจะร้องจากเนื้อหาของวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ เช่น สังข์ทอง พระอภัยมณี ฯลฯ ร้องเพียงสั้น ๆ บทหนึ่งขณะที่พ่อเพลงร้องบนส่งนี้ ลูกคู่ในคณะบางคนก็จะร่ายรำทำท่าไปตามเนื้อเรื่องที่ร้องจนจบบทร้องส่งก็ เรียกว่า จบ "๑ วง" แล้วก็ร้องเพลงปรบไก่แต่ละครั้งมักจะเป็นการแก้บนและการร้องครั้งหนึ่ง ๆ จะร้องสักกี่ "วง" ก็ได้
สำหรับเนื้อร้องของเพลงปรบไก่ที่เล่นกันในพื้นบ้านจะเป็นข้อความในลักษณะ เป็นการว่าโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง ไม่ค่อยเป็นเกี้ยวพาราสี และสำนวนภาษาที่ใช้ก็จะค่อนข้างหยาบ คือจะว่ากันตรง ๆ ไม่อ้อมค้อมหรือเลี่ยง เป็นแบบสองแง่สองง่ามเหมือนเพลงพื้นบ้านชนิดอื่นและเวลาร้องมักจะกระแทก เสียงห้วนสั้นในคำท้ายวรรค

ตัวอย่างเนื้อเพลงปรบไก่

แม่เพลง : เล่นเพลง ปรบไก่ มาจนหัวไหล่ ยอก
ได้เงินบาท ก็ไม่ถึง เงินสลึง ก็ไม่ออก
จะเล่นทำไม ให้หัวไหล่มันยอก
ลูกคู่รับ : เอ่ย เออ เอ่อ เอ่ย จะเล่นทำไม ให้หัวไหล่มันยอก ฉา ตะลาลา ฉ่า ฉ่า ฉ่า ฉ่า ชะ
การแต่งกาย ก็แต่งแบบพื้นบ้าน คือนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อแขนสั้น มีผ้าคาดเอว ทั้งชายและหญิงแต่งแบบเดียวกัน

  • โอกาสหรือเวลาที่เล่น

สำหรับโอกาสที่เล่นเพลงปรบไก่ ในสมัยก่อนจะเป็นการเล่นเพื่อแก้บน แต่ปัจจุบันนี้ การเล่นเพลงปรบไก่ไม่ค่อยแพร่หลาย มักจะมีการเล่นโอกาสที่เป็นงานแสดงวัฒนธรรมของสถานศึกษาต่างๆ หรือ ของสถานที่ราชการที่ต้องการจะอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยไว้

  • คุณค่า / แนวคิด/ สาระ

เป็นการละเล่นที่ก่อให้เกิดความสนุกสนาน สามัคคี ในหมู่ประชาชนละแวกเดียวกันและเป็นการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น