วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ปริศนาคำทาย โจ๊ก ผะหมี

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  สมุทรปราการ

  • ประวัติ

นายวีระ ฉ่ำตุ๋ย ได้เล่าให้ฟังว่า ชาวจีนในสมัยโบราณมีความรู้เกี่ยวกับการแต่งกลอน ชอบบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เมื่อเวลามีงานเทศกาลที่สำคัญของชาวจีน เช่น เทศกาลตรุษจีน วันไหว้พระจันทร์ งานไหว้บรรพบุรุษ ชาวจีนจะประดับประดาโคมไฟ และจะเขียนคำกลอนด้วยสีแดงไว้บนโคมไฟ แขวนไว้หน้าบ้าน เมื่อคนที่สัญจรผ่านไปมาต่อคำกลอนที่เจ้าของบ้านเขียนไว้ได้ เจ้าของบ้านจะเชิญเข้าบ้านเพื่อรับประทานอาหารและจะให้เกียรติถือว่าเป็นคน มีความรู้ ควรสรรเสริญ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวจีนอพยพเข้ามาในประเทศไทย ขึ้นฝั่งบริเวณชายทะเลจังหวัดระยอง และจังหวัดใกล้เคียงและพักอาศัยอยู่แถบชลบุรี กรุงเทพ แถวสำเพ็ง เมื่อถึงเทศกาลของชาวจีน ก็จะจัดพิธีเช่นเดิม มีการเขียนกลอน คนไทยเองเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนเช่นกันก็แต่งกลอนเป็นภาษาไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้มีการเล่นผะหมี โดยให้แต่งร้านแบบจีนเป็นห้องโถง มีช่องผู้ตอบแก้คำปริศนา คำปริศนาเขียนบนกระดาษสีต่าง ๆ ติดไว้ตามข้างฝา ผู้ใดคิดได้ก็ปลดลงมา ผู้ตอบจะต้องเสียเงิน ๑ บาท ก่อนแล้วจึงตอบ เมื่อตอบแล้วก็อาจมีอาณัติสัญญาณดังขึ้น ถ้าเป็นเสียงกลองก็แปลว่าทายถูก จะได้รับรางวัลเป็นสิ่งของ แต่ถ้าตอบผิดก็จะมีเสียงแก๊ก ผู้ตอบต้องนำปริศนาไปไว้ที่เดิม ต่อมาภายหลัง ทรงให้เรียกว่า "การทายปริศนา"

สำหรับจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดชลบุรี หรือแม้แต่กรุงเทพเองก็อยู่ใกล้เคียงกัน จึงมีการเล่นปริศนาคำทาย โจ๊ก ผะหมีกันอย่างแพร่หลาย ที่เรียกว่า "โจ๊ก" สันนิษฐานได้ว่า การทายปริศนานั้นต้องใช้เวลานาน เล่นกันจนดึกดื่น เจ้าภาพจึงต้มโจ๊กมาเลี้ยง หรืออาจจะเป็นได้ว่าการทายโจ๊กนั้น ถ้าแปลคำว่า"โจ๊ก" ก็คือ ตลก การทายโจ๊กเล่นแล้วตลกและให้ความสนุกสนาน จึงเรียกว่า "โจ๊ก" ในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ หรือที่เราเรียกว่าปากน้ำ นิยมเรียกว่าการทาย "โจ๊ก" จะเล่นในงานแห่ผ้าห่มองค์พระสมุทรเจดีย์บ้าง ในงานศพบ้าง แต่ที่อำเภอบางบ่อ นิยมเรียกว่า "ผะหมี" เพราะ คำว่า "ผะหมี" "ผะ" แปลว่า ตี "หมี" แปลว่า ปัญหา รวมกันแล้วแปลว่าการตีปัญหา หรือการทายปัญหา

การทายปริศนา มีอยู่ ๑๑ ลักษณะ คือ
๑. โคลงสี่สุภาพ ๒. ดอกสร้อย ๓. จุลพจน์
๔. กระจุ๋มกระจิ๋ม ๕. ทศ ๖. สักวา
๗. กาพย์ยานี ๘. กาพย์ฉบัง ๙. ปริศนาภาพ
๑๐. อะไรเอ่ย ๑๑. จตุพจน์
ปริศนาทั้ง ๑๑ นี้เปลืองตัวเฉลยมาก เพราะต้องใช้ตัวเฉลย ๘-๑๐ ตัวเฉลย ที่มาก็มาจากพจนานุกรม ภายหลังนายโรงไม่ค่อยแต่งปัญหาในลักษณะเหล่านี้ มักจะใช้เป็นแบบโคลงสี่สุภาพ เพราะใช้ตัวเฉยเพียง ๔ ตัว ตัวอย่าง
ผู้หนึ่งชำนาญด้าน ดนตรี (พระอภัยมณี)
ผู้หนึ่งหลงลาวศรี พี่น้อง (พระลอ)
ผู้หนึ่งวุ่นราวี ขึงนุช คืนมา (พระราม)
ผู้หนึ่งโปรยทานก้อง ล่ำสร้างผลบุญ (พระเวสสันดร)
พิฆาตกุมภีล์ดิ้น ดับชนม์ (ไกรทอง)
นางเปลี่ยนชื่อสองหน ช่วยเว้า (วันทอง)
เป็นหอยก่อนเป็นคน นามนั่น ใดนอ (สังข์ทอง)
ส่ำส่อนกับหนุ่มเหน้า เช่นนี้นามใด (ดอกทอง)
บางครั้งหาคำเฉลยได้เพียงแค่ ๓ คำ ก็สามารถแต่งได้ แต่ต้องบอกให้ผู้ทายทราบในบาทที่ ๔
แบแบะเผยแจ่มแจ้ง อะไร (อล่างฉ่าง)
อร่ามลักษณ์ระเริงใน อะเคื้อ (อล่องฉ่อง)
บวมปูดอุดทั่วไป อนาถนึก (อลึ่งฉึ่ง)
สามบาทขาดหนึ่งเดื้อ แผ่นนี้ทายสาม
ผะหมีผวน
แต หนึ่งนามหมู่ไม้ มีพิษ (แตยำ-ตำแย)
แต หนึ่งกวนสะกิด ยั่วเย้า (แตยอ - ตอแย)
แต หนึ่งดัดจริต โป้ปด (แตหลอ - ตอแหล)
แต หนึ่งสัตว์สี่เท้า กู่ก้องร้องไกล (แตกุ๊ก-ตุ๊กแก)

  • สถานที่เล่น

นิยมปลูกเป็นโรงไม้ยกพื้นสูง ไม่ต้องใหญ่โตนัก มีบันไดขึ้นด้านหลังสำหรับนายโรงและลูกมือ ด้านหน้าเปิดโล่ง มีเสาปัก ๒ ต้น เพื่อเอาไว้ขึงจอซึ่งใช้มู่ลี่ ด้านหน้ามู่ลี่ขึงลวดเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นห่างกันประมาณ ๑-๑.๕ ฟุต เพื่อติดกระดาษปริศนา พื้นด้านหน้าเว้นไว้พอมีทางให้นายโรงเดินติดหรือปลดคำถาม ของรางวัลตั้งอยู่บนโต๊ะด้านข้าง ด้านหลังจอมีโต๊ะวางสมุด ทะเบียนเฉลยและอุปกรณ์ต่างๆ ของนายโรงและลูกมือ ได้แก่ กลองสัญญาณ และกริ่ง ตัวโจ๊กเขียนบนกระดาษสีหรือกระดาษวาดเขียน ตัวอักษรใหญ่พอให้คนข้างล่างมองเห็นได้

  • วิธีทาย

จะเริ่มด้วยโหมโรงด้วยเสียงตะลุงตุงฉ่าง ๆ จังหวะช้า ๆ ค่อยเร็วขึ้นจนรัวเป็นชุด เพื่อเรียกคน แล้วนายโรงจะกดกริ่งเป็นเสียงยาวแสดงว่าเปิดการเล่นผะหมีแล้ว
ผู้มาชมจะอ่านแผ่นปริศนาต่าง ๆ เมื่อคิดว่าตนทายได้แผ่นใด ก็จะขานขึ้นว่าจะทายแผ่นใด เช่นจุลพจน์ ๒๐ นายโรงก็จะเปิดสมุดเฉลย เล่มที่เป็นจุลพจน์ เมื่อพบแล้ว จะตีกลองรับ ๑ ตุ๊ง แสดงว่าพร้อมผู้ทายจะอ่านโคลงทีละบาท และทายไปทีละบาท จนครบ ๔ บาท ถ้าทายถูกหมดผู้ทายจะกดกริ่งเสียงยาวแสดงว่าถูกต้อง ลูกมือจะนำกล่องสลากไปให้จับแล้วจ่ายของรางวัล แต่ถ้าทายถูกบ้างผิดบ้าง นายโรงจะบอกใบ้ให้เช่น ทายผิด ๑ คำทาย จะตีข้างกลอง ๑ แก๊ก ผิด ๒ คำทายตี ๒ แก๊ก และอาจจะต่อด้วยตะลุ่งตุ้ง คนเชียร์จะรับว่า เฮิ้ว เป็นที่สนุกครึกครื้น
สำหรับผะหมีภาพจะไม่มีการตีกลองบอกใบ้ ถ้าทายถูกจะกดกริ่งยาว ถ้าผิดนายโรงจะตีกลองตะลุ่งตุ้งเฮิ้วทันที

  • โอกาสในการเล่นผะหมี

จะเล่นในงานลอยกระทง งานสงกรานต์ งานแห่ผ้าห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ งานนมัสการหลวงพ่อปาน หรือแม้แต่ในงานศพ

  • คุณค่า

เพื่อความเพลิดเพลิน ฝึกสติปัญญา สร้างความสามัคคี ฝึกให้เป็นคนกล้า และเคารพสิทธิผู้อื่น