วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

หุ่นกระบอก

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  สมุทรสงคราม

  • อุปกรณ์การเล่นและวิธีการเล่น

อุปกรณ์การเล่น
ตัวหุ่น คนเชิด และโรงหุ่น
ตัวหุ่นมีส่วนประกอบคือ
ศีรษะหุ่น แกะจากไม้เนื้อเบา เช่น ลำพู ไม้นุ่นทองพราว ไม้โมก หรือไม้สัก แล้วปั้นแต่งหน้าด้วยรักหรือดิน ปิดด้วยกระดาษสาที่ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ทาแป้งเปียกหรือกาว ๓ ชั้น จนเรียบแน่น ทาฝุ่นสีขาว ๓ ชั้น รอจนแห้งสนิท แล้วใช้ใบลิ้นเสือ หรือกระดาษทรายน้ำขัดทั่วหน้าหุ่น
ศีรษะหุ่นที่เป็นตัวตลก จะทำปากอ้าได้ หุบได้ โดยมีเชือกดึงจากหน้าและมีห่วงอยู่ปลายเชือกสำหรับสอดนิ้วโป้งเข้าไปกระตุก ให้ปากอ้าหรือหุบได้

ลักษณะตัวหุ่น
ตัวหุ่นกระบอกจริงๆ คือ ไม้กระบอกหรือไม้ไผ่นั่นเองมีไหล่ทำด้วยไม้เจาะรูสำหรับเสียบ
มือหุ่น
หุ่นตัวพระ จะมีมือขวาถืออาวุธไว้เสมอ จึงมักจะแกะด้วยไม้มีรูสำหรับเสียบอาวุธเปลี่ยนไปได้ตามเรื่อง
หุ่นตัวนาง มือหุ่นจะตั้งวงรำทั้งสองข้าง แต่บางตัวจะมีมือขวาถืออาวุธบ้างพัดบ้าง
ลักษณะโรงหุ่นกระบอกและฉาก

โรงหุ่น มีลักษณะดังนี้
๑. สูงจากพื้นดินพอประมาณให้คนยืนหรือนั่งดูได้
๒. ความยาวหน้าโรงประมาณ ๗ เมตร หรือ ๓ วา ๒ ศอก
๓. ความสูงจากพื้นถึงหลังคาโรงหุ่นประมาณ ๓.๕๐ เมตร
๔. ความสูงจากหน้าโรงถึงหลังโรงไม่น้อยกว่า ๕ เมตร
ฉากหุ่นกระบอกเขียนด้วยสีฝุ่นเป็นรูปปราสาทราชวัง เป็นฉากผ้ามี ๕ ชิ้น ตัดต่อกันเป็นผืนเดียวลงมาจากด้านบน โรงต้องสูงจากพื้นที่นั่งเชิด ๑ ศอก หรือ ๕๐ เซนติเมตร เพื่อให้มือคนเชิดสอดศอกมาจับหุ่นเชิดหน้าฉากได้สะดวก
หุ่นกระบอกของจังหวัดสมุทรสงคราม มี ๒ คณะ คือ
๑. หุ่นกระบอกคณะแม่สาหร่าย (คุณยายสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์)
๒. หุ่นกระบอกคณะชูเชิดชำนาญศิลป์ (ลุงวงษ์ รวมสุข)
ปัจจุบันเจ้าของคณะทั้งสองท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว

  • วิธีการเล่น

การเชิดหุ่น มือซ้ายของผู้เชิดจะถือกระบอกไม้ไผ่อันเป็นลำตัวหุ่นและถือตะเกียบมือหุ่น ซ้าย ขวา ไว้ในมือขวาของผู้เชิด เมื่อมีการใช้บทบาทบางครั้งผู้เชิดจะเอานิ้วก้อยซ้ายหนีบตะเกียบซ้ายของหุ่น เอาไว้ การเชิดหุ่นมีท่าในการเชิดหลายแบบ คือ ท่าบทบาทได้เต็มที่
๑. กล่อมตัว เป็นท่าเชิดพื้นฐาน คือ กล่อมไหล่หุ่นจากซ้ายไปขวาและจากขวาไปซ้าย ให้นุ่มนวล
๒. เชิดอ้อมมือ คือ แทงมือจากขวาไปซ้าย และจากซ้ายไปขวา
๓. กระทบตัว ตรงกับจังหวะ ยืด ยุบ ของโขน ละคร
๔. โยกตัว ในจังหวะ "ต้อม ต้อมม่า ทิงทิง … ตุ๊บ ทิงทิง"

  • ดนตรีการขับร้อง

วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงหุ่นกระบอก โดยมากใช้ปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบ ปี่ใน ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน กลองแขก กลองทัด และเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงหุ่นกระบอกที่จะขาดไม่ได้ คือ ซออู้ กลองแต๊ก แต๋ว นอกจากนี้ยังมี ม้าห้อ ล่อโก๊ะ เพิ่มพิเศษเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับจีน เช่น เรื่องพระอภัยมณี ตอนศึกเก้าทัพ เป็นต้น ส่วนล่างของฉากจะเขียนเป็นกำแพงเมือง มีใบเสมาสูง ๑ ศอก หรือ ๕๐ เซนติเมตร ทำด้วยผ้าโปร่งหรือมู่ลี่ เพื่อให้คนเชิดเห็นตัวหุ่นได้ถนัด ประตูฉากมี ๔ ประตู ผู้รับโรง ๒ ประตู ด้านในอีก ๒ ประตู เป็นประตูสำหรับหุ่นเข้าออก ส่วนใหญ่จะใช้แต่ประตูใน หากเป็นการยกทัพมีคนมากจะใช้ประตูนอก

  • เรื่องที่ใช้ในการแสดง

พระอภัยมณี ลักษณวงศ์ สุวรรณหงส์ ไชยเชษฐ ไกรทอง ขุนช้าง-ขุนแผน วงษ์สวรรค์-จันทวาส พระปิ่นทอง (แก้วหน้าม้า) โกมินทร์ มาลัยทอง เป็นต้น

  • การพากย์หุ่น

ผู้เชิดต้องร้องเพลงหุ่นเอง และพูดเจรจาบทพากย์ต่างๆ บางทีก็ใช้ผู้หญิงพากย์แทนผู้เชิดที่เป็นชายก็มี และในการพากย์ การร้อง ต้องมีคนบอกบทคอยตะโกนบอกทั้งผู้เชิดและนักดนตรีเพื่อแสดงให้สอดคล้องกัน

  • โอกาสที่เล่น

การแสดงหุ่นกระบอกนั้น เดิมจะมีแสดงในงานสมโภช งานนักขัตฤกษ์ต่างๆ หรืองานพระศพเจ้านาย ซึ่งมีการแสดงได้แก่ โขน ละคร หุ่น หนังใหญ่

  • คุณค่า

การแสดงหุ่นกระบอกของจังหวัดสมุทรสงครามนั้น เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ประมาณ ร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยมีแม่ครูเคลือบซึ่งเป็นผู้เชิดที่มีความสามารถในการเชิดหุ่น และการขับร้องเป็นอันมาก เชื่อกันว่าแม่ครูเคลือบเป็นผู้คิดแต่งเพลงไทยหลายเพลงเช่น กล่อมนารี พัดชา ขอมกล่อมลูก เทวาประสิทธิ์ หนีเสือ เขมรกำปอ นเรศร์ชนช้าง สามไม้ใน สามไม้นอกและสามไม้กลาง เพลงที่ใช้ในการบรรเลงและการขับร้องประกอบการแสดงหุ่นกระบอกเหมือนกับการ แสดงละครทุกอย่าง คือ มีการร้องสองชั้น ชั้นเดียว เพลงร่าย และเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบอาการ และบทบาทต่างๆ ของตัวหุ่นคือ เพลงสังขารา แต่นักดนตรีและผู้ขับร้องอาวุโสหลายท่านอธิบายว่าเพลงหุ่นและเพลงสังขารา เป็นเพลงที่มีทำนองแตกต่างกัน