วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

หมากเก็บ

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  สมุทรสงคราม

  • อุปกรณ์การเล่นและวิธีการเล่น

อุปกรณ์การเล่น
- ก้อนหินลักษณะค่อนข้างกลมขนาดเท่าหัวแม่มือ จำนวน ๕ เม็ด

สถานที่เล่น
บริเวณพื้นกระดาน หรือพื้นปูน ที่ค่อนข้างเรียบ เช่น ระเบียงบ้าน ในห้อง พื้นใต้ถุนบ้าน หรือบริเวณใดก็ได้ที่ชอบ

การแข่งขัน
ประเภทบุคคล และประเภททีม

กติกาการแข่งขัน

ผู้เข้าแข่งขันจะตกลงกันก่อนว่า ใครจะเป็นผู้เล่นก่อน โดยการตัดสินเป่ายิงฉุบ หรือหมากล้าน ใครล้านได้จำนวนมากกว่าก็เป็นฝ่ายเริ่มก่อน

วิธีการเล่น
มี ๙ ขั้นตอน คือ หมาก ๑ หมาก ๒ หมาก ๓ หมาก ๔ หมากจุ๊บ หมากเล็กใหญ่ หมากคาย หมากแกง และหมากล้าน
ผู้เล่นจะต้องตกลงกันก่อนว่าจะเล่นสิ้นสุดเกมที่หมากใด แล้วแต่ความสามารถของคู่แข่งขัน ถ้าความสามารถน้อย จะสิ้นสุดที่หมาก ๔ หากความสามารถมากขึ้นก็อาจจบที่หมากจุ๊บ หมากเล็กใหญ่ หมากคาย และหมากแกง เป็นต้น แต่จะจบเกมที่ขั้นตอนใดก็ตาม จะต้องลงท้ายด้วยหมากล้านเสมอ
ระหว่างการเล่นจะต้องเล่นให้ถูกต้อง คือจะต้องรับก้อนหินที่โยนขึ้นไปให้ได้ และจะต้องหยิบก้อนหินที่พื้น โดยไม่ให้ก้อนอื่นสะเทือน หรือไหว หากรับไม่ได้หรือเล่นแล้วเกิดการไหว ก็จะต้องเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นต่อ

การตัดสิน
การตัดสินว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะนั้น จะนับคะแนนจากจำนวนเม็ดที่ล้านได้ ในหมากล้าน ใครเชี่ยวชาญเล่นได้โดยไม่ไหวเลย และเล่นได้หมากล้านบ่อยๆ ก็จะได้คะแนนมาก


  • ขั้นตอนการเล่นหมากเก็บ

หมาก ๑
ทอดก้อนหินทั้งหมดลงบนพื้น โยนก้อนหินเม็ดหนึ่งขึ้นไป แล้วเก็บก้อนหินที่ทอดลงไปทีละเม็ด พร้อมรับก้อนหินที่โยนขึ้นไปนั้นให้ได้ทีละเม็ดแล้ววางไว้ข้างตัว เก็บเม็ดที่เหลือโดยวิธีเดิม
หมาก ๒
ทำเช่นเดียวกับหมาก ๑ แต่เก็บก้อนหินครั้งละ ๒ เม็ด
หมาก ๓
ทำเข่นเดียวกับหมาก ๑ แต่เก็บก้อนหิน ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑ เม็ด ๑ ครั้ง และครั้งละ ๓ เม็ด ๑ ครั้ง
หมาก ๔
โยนก้อนหินเม็ดหนึ่งขึ้นไป แล้ววางก้อนหิน ๔ ก้อนให้เป็นกองเดียวกัน เก็บก้อนหินทั้ง ๔ ก้อน ขึ้นมา พร้อมกับรับก้อนหินเม็ดที่ตกลงมาให้ได้
หมากจุ๊บ
ใช้วิธีเดียวกับหมาก ๔ แต่ตอนรับก้อนหินให้เอียงมือ เอาส่วนช่องว่างระหว่างหัวแม่มือและนิ้วชี้รับเม็ดก้อนหินที่ตกลงมาให้ได้
หมากเล็กใหญ่
ใช้วิธีเดียวกับหมาก ๑ แล้วฝ่ายตรงกันข้ามว่า "เล็ก" หรือ "ใหญ่" ฝ่ายตรงกันข้ามจะดูลักษณะเม็ดก้อนหินที่คู่แข่งทอดได้ หากก้อนหินอยู่ชิดกันมากอาจทำให้เกิดการไหวได้ ก็จะบอกว่า "เล็ก" ผู้แข่งขันก็จะต้องเก็บก้อนหินทีละเม็ดเหมือนหมาก ๑ ถ้าเม็ดก้อนหินอยู่ห่างกันมาก ฝ่ายตรงกันข้ามจะบอกว่า "ใหญ่" ผู้เล่นก็จะต้องโยนก้อนหินเม็ดหนึ่งขึ้นไปพร้อมกับใช้ฝ่ามือกวาดรวบก้อนหิน บนพื้นให้หมดทั้ง ๔ เม็ด หากรวบไม่ได้ หรือรับก้อนหินพลาด ก็ต้องเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงกันข้ามเล่นต่อ
หมากคาย
ใช้มือกำก้อนหินไว้ในมือ ๔ เม็ด โยนก้อนหินเม็ดหนึ่งขึ้นไป พร้อมกับปล่อยก้อนหินออกจากมือ ๑ เม็ด แล้วเก็บก้อนหินพร้อมทั้งรับก้อนหินที่ตกลงมาให้ได้ โดยยังมีก้อนหินที่เหลือค้างอยู่ในมือ
หมากแกง
โยนก้อนหินหนึ่งเม็ดขึ้นไป พร้อมทอดก้อนหิน เมื่อทอดก้อนหินแล้วฝ่ายตรงกันข้ามจะเป็นผู้แกง โดยการเลือกก้อนหิน ๒ ก้อน มาวางให้ชิดกันตรงกลางระหว่างก้อนหิน ๒ เม็ด โดยให้อยู่ในแนวเดียวกัน ผู้เล่นจะต้องหยิบก้อนหิน ๒ เม็ด ที่อยู่ตรงกลางขึ้นมาให้ได้โดยไม่ให้เกิดการไหว การหยิบก็ใช้วิธีเดิมคือ โยนก้อนหินเม็ดหนึ่งขึ้นไป หยิบก้อนหิน ๒ เม็ดพร้อมกับรับก้อนหินที่ตกลงมาให้ได้ แล้ววางก้อนหิน ๒ เม็ดไว้ โยนก้อนหินหนึ่งเม็ดขึ้นไปแล้วรวบก้อนหินทั้ง ๒ เม็ดที่เหลือพร้อมรับก้อนหินที่ตกลงมาให้ได้
หมากล้าน
การเล่นหมากล้านมี ๒ วิธี คือ
การเล่นหมากล้านอย่างง่าย
ให้นำก้อนหินทั้ง ๕ เม็ด ไว้บนหลังมือแล้วโยนก้อนหินขึ้นไป พลิกฝ่ามือแล้วรับก้อนหินให้ได้ ถ้ารับได้เท่าใด ก็คิดคะแนนเท่านั้น
การเล่นหมากล้านอย่างยาก
ให้นำก้อนหินทั้ง ๕ เม็ด ไว้ในฝ่ามือ โยนก้อนหินทั้งหมดขึ้น ใช้หลังมือรับแล้วโยนก้อนหินที่รับได้ขึ้นไปอีกครั้งหนึ่งพร้อมทั้งหงายฝ่า มือรับก้อนหินที่ตกลงมาให้ได้ รับได้เท่าใดก็คิดเป็นคะแนนเท่านั้น

  • คุณค่า

หมากเก็บ เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของเด็กไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้ ประโยชน์จากการเล่นหมากเก็บมีดังนี้
๑. เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
๒. เป็นการฝึกสมาธิ เกิดไหวพริบในการแก้ปัญหา
๓. ฝีกน้ำใจเป็นนักกีฬา โดยปราศจากการพนันอันเป็นอบายมุข
๔. เป็นการปลูกฝังความรักความสามัคคีในหมู่เด็ก
ในสภาพสังคมปัจจุบัน ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและความเครียดในสังคม การส่งเสริมการเล่นหมากเก็บ อาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดช่องว่างในหมู่เด็ก สร้างความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม เป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีให้แก่เด็ก เพื่อเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมไทยในอนาคต