วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

การละเล่นพื้นบ้านท่าโพ-พันสี

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  อุทัยธานี

  • อุปกรณ์  ตะโพน
  • การแต่งกาย ชาย-หญิง นุ่งโจงกระเบน

  • คุณค่า

การละเล่นพื้นบ้านท่าโพ-พันสี เป็นการรวมกลุ่มของคนหมู่บ้านท่าโพซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองอุทัยธานีประมาณ ๒๓ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่สืบค้นพบว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การละเล่นพื้นบ้าน ท่าโพ-พันสี และเพลงพื้นบ้านบ้านท่าโพ เป็นเพลงพื้นบ้านของเดิมที่เล่นกันอยู่ในหมู่บ้านตามที่สืบทอดมาจาก บรรพบุรุษ และผู้ที่จดจำกันมาไม่ได้เคยนำเนื้อร้องของใครมาเสริมแต่งดัดแปลง
เพลงพื้นบ้าน ท่าโพ-พันสี แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท
๑. เพลงที่เล่นตามฤดูกาล ได้แก่เพลง เกี่ยวข้าว
๒. เพลงที่เล่นตามเทศกาล ได้แก่ เพลงพื้นบ้าน เพลงชักคะเย่อ เพลงโลม เพลงรำวงโบราณ ฯลฯ
๓. เพลงที่เล่นตามงานต่าง ๆ ได้แก่ เพลงบวชนาค เพลงรำสวด เพลงกล่อมเด็ก
ส่วนใหญ่เพลงที่ได้รับความนิยมได้แก่ เพลงที่เล่นตามเทศกาลมักจะนิยมเล่นใน วันสงกรานต์ โดยมีการเล่นตามลำดับหลังจากทำบุญตักบาตรเรียบร้อย ก็นำข้าวของไปเก็บไว้ที่บ้าน แล้วจึงช่วยกันมาเก็บดอกไม้นำไปให้พระในโบสถ์ ก็จะเริ่มจาก

เพลงเก็บดอกไม้
เพลงเก็บดอกไม้ ใช้ร้องระหว่างหนุ่มสาว
" เก็บดอกไม้ร่วมต้น เป็นแต่คนละกิ่ง น้องกลัวจะตัดแต่ยอดของน้องเอาไปทิ้ง จะทำให้น้องประข่งเสียแล้ว เอย "
เมื่อเก็บดอกไม้เรียบร้อยแล้วก็จะพากันเข้าไปในโบสถ์ เพื่อมาไหว้พระ อธิษฐานโดยแยกชาย-หญิง โดยให้ทุกคนเป็นลูกคู่ เช่น
"(ชาย) อธิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน ถือพานด้วยดอกแก้ว เกิดมาชาติใดแล้ว ได้ขอให้มีใจผ่องแผ้ว เอย(ลูกคู่) อธิษฐานวานไหว้ ขอให้ได้เหมือนใจเราคิดอธิษฐานเอย ดอกรอบ ดอกผอย ขอให้พบพานเอย" แล้วฝ่ายหญิงก็จะร้องแก้ฝ่ายชายในทำนองเดียวกัน พอเล่นเพลงอธิษฐานครบทุกคนแล้ว ก็จะพากันออกมาจากลานวัด แล้วร่วมเล่น การละเล่นพื้นบ้าน โดยมีหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมาร่วมเล่นกัน เช่น เล่นมอญซ่อนผ้า ลูกช่วงลูกชัย ชักเย่อ แม่สี เสือกินลูกเจี๊ยบ และผีพุ่งใต้เป็นต้น
การละเล่นมีเพลง เช่น เพลงเสือกินลูกเจี๊ยบหรือเจี๊ยบ ๆ จ้อย ๆ
"เจี๊ยบ ๆ จ้อย ๆ หมาน้อยกินรำ เดือนมืดเดือนค่ำ อีกามาเห็น อีกามาร้อย ตัดไม้ สองปล้อง มาดีดนมสาว มะเขือขาว ๆ อีหลั่นกันเต อีเรกันหอย... "
เพลงแม่สี
"เชิญเอ๋ยเชิญลง ขอเชิญพระองค์ที่เขาขี้ฝอย ขี่พระยางาน้อย มาลงเอาแม่ตาดำ วันนี้ยังค่ำ มาเต้นมารำเอาแม่นา ค่ำลงวันนี้ขอเชิญแม่ผีมาเอย ผีอะไรเคยเล่น เคยเต้น เคยรำ วันนี้ วันยังค่ำ ขอเชิญมารำกันแม่นา ค่ำลงวันนี้ขอเชิญแม่สีมาเอย"
เพลงรำวงโบราณ
เมื่อมีการแพ้ชนะกันก็จะมีการปรับด้วยการรำวงด้วยเพลงรำวงโบราณ มีเพลงที่ร้องตามวรรณคดีไทยและเพลงที่ใส่เนื้อตามรำโทน เป็นเพลงเก่าที่นิยม ใช้รำวงกัน มีท่าทางประกอบตามเนื้อเพลง เพลงที่ร้องเป็น

  • เนื้อเพลงรำวงโบราณ

๑. โอ้พระเวสสันดรองค์พระโพธิญาณ ยกสองกุมารให้พรานชีไพร โอ้มัทรี สายใจ(ชะเออเอย)สลบลง ตาย ตายแน่หายาใดแก้คู่รักฉัน หากหายาไม่ทันคู่รักฉัน เห็นจะตายแน่
๒. โมรา โมรา โมรา แรกเริ่มเดิมมาอยู่ในฝาผอบ ตัวฉันชื่อจันทโครพ เปิดฝาผอบพบนางโมรา พาน้องไปเที่ยวกลางไพร น้องเดินไม่ไหวพี่ก็อุ้มนาง มาส่ง พระขรรค์ไปให้โจรไพร จะฆ่าพี่ชายเชียวหรือแม่โมรา
๓. วันทองเธอมาเป็นสองใจ เชื่อไม่ได้น้ำใจแม่วันทอง ขุนแผนไปทัพกลับมา มีรักใหม่ เชื่อไม่ได้น้ำใจแม่วันทอง ตัดใบตองเอามารองเลือด หวังจะเชือดดูเลือดแม่ วันทอง
๔. ลมพัดกระเซ็นไปทางทะเลภาคใต้ จะเหลียวแลไปหัวอกฉันให้ร้าวราน ลมพัดกระเซ็นพัดอยู่ไม่เว้นวัน เปรียบเหมือนดวงจันทร์โอ้ตัวฉันนี้เฝ้าคอย ช่วยโปรด เมตตามารับรักพี่ไว้สักหน่อย รักเขาจะค่อย ๆ อยู่ข้างหน้า
๕. ตะวันรอน ๆ พวกโจรสัญจรไปเจอพระจันทร์ ชื่อไรจะไปทางไหน กันฉันชื่อ พระจันทร์พร้อมด้วยนาง
โมรา มาดแม้น ไม่ส่งนางมา พี่จ๋าคอยระวังภัยเธอไม่เป็นไร บอกกับนางโมรา
๖. ยามเมื่อฉันสิ้นบุญ ใครจะหนุนฉันเล่า มีกรรมเสียแล้วจ๋า (ๆ) หมดวาสนา น้ำตาไหลพราว ยามพี่มีเวรน้องจะช่วยค้ำ ยามพี่มีกรรมน้องจะช่วยอุดหนุน ยามพี่สิ้นบุญ สองมีอประคองจริง ๆ หรือน้องจ๊ะ รับรองจะต้องแน่นอน ๆ
๗. ยามจันทร์ฉาย แสงกระจายสว่างนภา เมฆน้อยลงมา สว่างจ้าดุจแสงกลางวัน ตัวพี่กระต่ายต่ำต้อย โอ้แม่สาวน้อย เปรียบเหมือนดวงจันทร์ เราซิมารักกัน รักกันให้มั่น ได้ไหมจ๊ะเธอ
๘.เจ้าพวงมาลัยเอย ลอยไปก็ลอยวน ลอยมาทางนี้ ลอยมาให้พี่สักคน เอ๋ยเจ้า พวงมาลัย หัวใจพี่จะขาดแล้วเอย
๙. ทิงโนงโหน่งโนง นกกิ้งโครงมาจับหลังคา จับแมวแจวเรือ มาจับเอาเสือไถนา

  • คุณค่า

๑. เป็นการรักษาวัฒนธรรมไทยมาแต่โบราณ
๒. ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ
๓. แสดงความรื่นเริงเพื่อผ่อนคลายความเครียดหลังเก็บเกี่ยวข้าว