วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เพลงนา

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  ชุมพร

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

ในการเล่นเพลงนาใช้ผู้เล่น ๑ คู่ ถ้าจะมีมากกว่านี้ก็ต้องเป็นจำนวนคู่แต่ที่นิยมกันมักไม่เกิน ๒ คู่ แต่ละคู่จะมีแม่เพลงคนหนึ่งทำหน้าที่ร้องนำ เรียกว่า "แม่คู่" มีผู้รับหรือ "ทอย" คนหนึ่งเรียกว่า "ท้ายไฟ" ถ้าผู้เล่นมีคู่เดียว บทที่ร้องมักเป็นบทชมบทเกี้ยวและบอกกล่าวเรื่องราวต่าง ๆ แต่ถ้าเล่น ๒ คู่ มักจะเป็น "กลอนรบ" หรือ บท "ฉะฟัน" คือร้องเพลงโต้ตอบกัน โดยต่างฝ่ายต่างหยิบยกเอาปมด้อยของฝ่ายตรงข้ามขึ้นมาว่าและว่ากันอย่างเจ็บ แสบ การร้องโต้ตอบนี้ท้ายไฟของฝ่ายใดก็จะทำหน้าที่รับทอยของฝ่ายนั้น
การเล่นเพลงนาจะเล่นกันเป็นกลอนสดหรือกลอนปฏิภาณ ผู้เล่นจะต้องมีสติปัญญาและไหวพริบดี การเล่นไม่มีดนตรีใด ๆ ประกอบ ลักษณะบทกลอนที่ใช้เป็นกลอนสิบคือวรรคหนึ่ง ๆ นิยมบรรจุให้ได้ ๑๐ คำ แต่อาจยืดหยุ่นเป็น ๘-๑๑ คำก็ได้ กลอนเพลงนาจะบังคับคณะ โดยให้กลอนสามวรรคเป็น "หนึ่งลง" กลอนหกลงเป็น "หนึ่งลาง" คือจบ ๑ กระทู้ เว้นแต่บทไหว้พระ ซึ่งจะจบเพียงสามลงเท่านั้น คือไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สำหรับลักษณะบังคับสัมผัสเขียนเป็นแบบบังคับได้ดังนี้

(ลงที่ ๑) ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงสูง)
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงต่ำ)
(ลงที่ ๒) ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงสูง)
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
(ลงที่ ๓) ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงสูง)
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ (เสียงต่ำ)
(ลงที่ ๔) ฯลฯ

ตัวอย่างบทร้องเกี้ยวชมสาว
บรรดาหญิงสาวสาวมาเก็บเกี่ยวข้าวนานี้ สาวคนโน้นอยู่ดีผิวฉวีสดใส
ขาวตลอดมือตีนเหมือนพ่อจีนแม่ไทย
แม่หญิงสาวขาวสวยที่มาทั้งไกลแค่ น้องคนโน้นสวยแท้พี่เหลียวแลตะลึงไหล
ตาต่อตามองกันเกิดสัมพันธ์ถึงใจ
ผิวเนื้อสาวขาวแล้วยังไม่แคล้วทาแป้ง สวยแล้วยังชั่งแต่งต้องตามแบบสมัย
บรรดาสาวชาวนาน้องสวยกว่าใครใคร

ฯลฯ
สำหรับการรับทอยของท้ายไฟ เมื่อแม่คู่ร้องส่งกลอนวรรคที่ ๑ จบแล้วท้ายไฟก็จะรับทอย โดยร้องซ้ำวรรคแรกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้แม่คู่คิดผูกกลอนวรรคที่ ๒ และที่ ๓ ต่อไป และการรับทอยก็จะรับเพียงวรรคที่ ๑ เพียงวรรคเดียวเท่านั้น

  • โอกาสที่เล่น

เดิมการร้องเพลงนาร้องเล่นกันในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เป็นทำนองเกี้ยว แต่ในปัจจุบันร้องเล่นในงานต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ บวชนาค ขึ้นบ้านใหม่ ปีใหม่ งานแต่งงานและงานศพ

  • คุณค่า

เพลงนาเป็นเพลงพื้นเมืองของจังหวัดชุมพร ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในเชิงภาษาและมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สร้าง ชื่อเสียงให้กับจังหวัดชุมพรมานานนับร้อยปี