การละเล่นพื้นบ้านภาคใต้ - ลูกลม (กังหันลม) (อ่านว่า ลูก-ลม)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ลูกลม (กังหันลม) (อ่านว่า ลูก-ลม)

 

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  ตรัง

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

อุปกรณ์
๑. ใบลูกลม ใช้ใบมะพร้าว หรือกาบหมาก หรือใบเตย เลือกชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วเฉือนใบให้ได้ขนาดกว้าง ๐.๕ นิ้ว ยาว ๔ นิ้ว บิดปลายทั้งสองให้เฉเล็กน้อยไปคนละทาง ตรงกลางใบลูกลมทำรูไว้เสียบหลอดสำหรับสวมเดือย
๒. หลอดลูกลม อยู่ตรงกลางของใบลูกลม สำหรับใส่ไม้ลูกลม และต้องหลวมเพื่อให้ใบลูกลมหมุนได้สะดวก
๓. ไม้ลูกลม ใช้สวมลงในเดือยให้ตั้งฉาก
๔. หางลูกลม นิยมทำด้วยทางระกำทั้งใบ ผูกติดกับไม้ลูกลม
๕. ลูกร้อง ใส่ลูกร้องตรงปลายใบลูกลมทั้ง ๒ ข้าง ลูกร้องทำด้วยไม้ไผ่มีรูที่เนื้อไม้บางที่สุด ตกแต่งปากลูกร้องด้วยชัน

  • วิธีการเล่น

หลังจากประกอบทำลูกลมเสร็จแล้ว จะนำลูกลมไปเสียบผูกไว้บนยอดไม้สูง ๆ เพื่อให้รับลมได้เต็มที่ ลูกลมจะหมุนและส่งเสียงร้องได้ยินไปไกล บางครั้งมีการแข่งขันการวิ่งลูกลมโดยถือลูกลมวิ่งฟังเสียงดูว่าลูกลมอันไหน เสียงดังไพเราะ ลูกลมที่ถือว่าเสียงดีไพเราะจะต้องมีเสียงกลมและมีใยเสียง

  • โอกาสและเวลาที่เล่น

ชาวบ้านนิยมเล่นลูกลม หลังจากเก็บข้าวเสร็จแล้ว ในฤดูร้อนเพราะว่างจากการทำงาน พื้นดินแห้งสนิท ลมกำลังดี เหมาะแก่การเล่นลูกลมมาก

  • คุณค่า

การเล่นลูกลมเป็นการพักผ่อนนันทนาการแบบหนึ่งของชาวชนบท โดยคิดค้นวิธีการทำลูกลมให้คงทนและเสียงไพเราะ ทำให้ได้ใช้ความคิดประดิษฐ์ลูกลมแบบต่าง ๆ ที่สวยงามและใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน โดยเฉพาะการวิ่งลูกลมเป็นกีฬาการออกกำลังกายได้ทั้งความสนุกสนานและความ สามัคคี