การละเล่นพื้นบ้านภาคใต้ - ละ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของไทยมุสลิม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ละ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของไทยมุสลิม

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  นราธิวาส

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

๑) อุปกรณ์ในการไหว้ครู ผ้าขาวสมางัด ด้ายยา และแหวน ๑ วง
๒) อุปกรณ์ในการแต่งกาย ผ้าโพกศีรษะ เสื้อคอกลมหรือคอตั้ง กางเกงขายาว ผ้าโสร่ง ผ้าลือบักคาดสะเอว หรือเข็มขัดทับโสร่ง กริช
๓) เครื่องดนตรี กลองยาว ๑ ใบ กลองเล็ก ๑ ใบ ฆ้อง ๑ คู่ ปี่ยาว ๑ เลา

วิธีการละเล่น

ก่อนต่อสู้จะมีการไหว้ครู การไหว้ครูแบบสิละนั้น จะต้องไหว้ทีละคน และมีการว่าคาถา เป็นภาษาอาหรับ และที่สำคัญคือขอพร ๔ ประการคือ
๑. ขออโหสิกรรมแก่คู่ชิงชัย
๒. ขอให้ปลอดภัยจากปรปักษ์
๓. ขอให้เป็นที่รักแก่เพื่อนบ้าน
๔. ขอให้ท่านผู้ชมนิยมศรัทธา
ก่อนชักสิละจะลงมือต่อสู้ทั้งคู่จะทำความเคารพกันและกัน เรียกว่า "สาลามัด" หลังจากนั้นก็เริ่มวาดลวดลาย เพื่อหาทางพิชิตคู่ต่อสู้ ฝ่ายใดทำให้คู่ต่อสู้ล้มลง หรืออาศัยผู้ดูรอบสนามว่าเสียงปรบมือฝ่ายฝ่ายใดดังกว่า ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ

กติกาข้อห้าม
ห้ามเอานิ้วมือแทงตาคู่ต่อสู้ ห้ามบีบคอ และห้ามต่อยแบบมวยไทย
กระบวนการชั้นเชิงมีมากมายหลายท่า เช่น
๑. ซังคะ ท่าป้องกัน
๒. จังคะดาน ท่ายืนตรงพร้อมต่อสู้
๓. ลังคาทีฆา ท่ายกมือขึ้นป้องกัน คือ มือขวาปิดท้องน้อย มือซ้ายยกเสมอบ่า
๔. ลังคะเล็มปัด ท่าก้าวไปตั้งหลักเบื้องหน้าปรปักษ์โดยก้าวเท้าทั้ง ๒ ข้างอย่างรวดเร็ว

  • โอกาสหรือเวลาที่เล่น

๑. ใช้ในการแข่งขันประชันฝีมือ เรียกว่า สิละยาโต๊ะ
๒. แสดงหน้าเจ้าเมือง หรือเจ้านายชั้นสูง เรียกว่า สิละตารี ส่วนใหญ่จะแสดงกันในเวลากลางคืน

  • คุณค่า / แนวคิด /สาระ

สิละเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหนึ่งของไทยมุสลิม ทำนองเดียวกับคาราเต้ ยูโด กังฟู หรือมวยไทย เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวอย่างสง่างามและยังมุ่งสอนให้นักสิละต่อสู้ ด้วยน้ำใจนักกีฬา และมีศิลปะ มีวินัยที่จะนำกลยุทธไปใช้ป้องกันตัว มิใช่ไปทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน