การละเล่นพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - การแข่งเรือ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

การแข่งเรือ

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  กาฬสินธุ์

  • อุปกรณ์ และวิธีเล่น

อุปกรณ์
๑. เรือยาวขุดด้วยไม้
๒. ฝีพาย ๔๐ คน
๓. กลอง-พังฮาด-ฉาบ-กิ่ง หรือ เครื่องดนตรีอื่น (สำหรับบรรเลงอยู่ในเรือ)

  • วิธีเล่น / กติกา

การจัดการแข่งขัน
รอบแรก กรรมการรับสมัครเรือจำนวน ๑๖ ลำ จับสลากแบ่งสายออกเป็น ๔ สาย แข่งขันแบบพบกันหมดในสาย เปลี่ยนลู่น้ำ นำเรือที่ได้คะแนนที่ ๑-๒ ของแต่ละสายไปจับสลากแบ่งออกเป็น ๒ สาย (สาย ก - ข) เพื่อแข่งขันในรอบที่ ๒
รอบที่สอง ดำเนินการแข่งขันเหมือนรอบแรก เรือที่มีคะแนนที่ ๑ - ๒ มีสิทธิ์เข้าแข่งขันในรอบรองชนะเลิศ
รอบรองชนะเลิศ จัดแข่งขันดังนี้
คู่ที่ ๑ เรือชนะที่ ๑ สาย ก. พบกับเรือที่ ๒ สาย ข.
คู่ที่ ๒ เรือชนะที่ ๑ สาย ข. พบกับเรือที่ ๒ สาย ก.
การแข่งขันในแต่ละคู่เปลี่ยนทางน้ำมีผลแพ้ - ชนะ ๒ ใน ๓ เที่ยว เพื่อหาเรือไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ
รอบชิงชนะเลิศ จัดแข่งขันดังนี้
- นำเรือที่ชนะของแต่ละคู่ของรอบรองชนะเลิศมาแข่งขันชิงที่ ๑ และ ๒
- นำเรือที่แพ้ของแต่ละคู่ของรอบรองชนะเลิศมาแข่งขันชิงที่ ๓ และ ๔
- แพ้-ชนะ ๒ ใน ๓ เที่ยว

  • กติกาการแข่งขัน

๑. เรือทุกลำที่เข้าทำการแข่งขันต้องมาให้ถึงสนามแข่งขันก่อนเวลา ๐๘.๐๐ น. ของวันที่ทำการแข่งขัน พร้อมให้ตัวแทน หรือหัวหน้าเรือ ไปรายงานตัวต่อคณะกรรมการที่กองอำนวยการ ถ้าเรือใดมาช้ากว่ากำหนด กรรมการจะพิจารณาเป็นรายๆไป และเรือลำใดที่ไม่ลงเทียบท่าในเวลา ๐๙.๐๐ น. ซึ่งเป็นพิธีเปิดคณะกรรมการจะพิจารณาตัดเงินค่าเทียบท่าลำละ ๓๐๐ บาท
๒. เรือทุกลำที่ทำการแข่งขันต้องวิ่งในลู่ที่กำหนด ถ้ามีการตัดลู่น้ำจะโดยเจตนา หรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการจะปรับแพ้ในเที่ยวนั้น
๓. เรือทุกลำต้องพร้อมที่จะเข้าทำการแข่งขันได้ทันทีเมื่อถึงเวลากำหนดใน สูจิบัตร และเมื่อกรรมการจุดปล่อยเรือเรียกเข้าประจำที่ ถ้าเข้าประจำที่ช้าเกินกว่า ๕ นาที หลังจากคณะกรรมการเรียกแล้วจะถูกปรับแพ้ในเที่ยวนั้น และให้คณะกรรมการปล่อยเรือคู่แข่งพายตามลู่น้ำของตนลงมาถึงเส้นชัยจึงจะถือ ว่าเป็นฝ่ายชนะ หากเรือลำใดไม้คาดแตกหรือหัก กรรมการจะอนุญาตให้เปลี่ยนไม้คาดใหม่ ภายในเวลาไม่เกิน ๒๐ นาที ถ้าเกินจะปรับเป็นแพ้ โดยให้ไปรายงานกับกรรมการจุดปล่อยเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และจับเวลา
๔. เรือทุกลำห้ามถอดหัวเรือในขณะทำการแข่งขัน
๕. เมื่อเรือแต่ละลำทำการแข่งขันของแต่ละเที่ยวผ่านไปแล้ว ให้รีบกลับไปลอยลำ รอการแข่งขันในเที่ยวต่อไป ณ จุดปล่อยเรือ โดยล่องเรือเลียบฝั่งทิศเหนือ
๖. ในขณะทำการแข่งขันหากฝีพายของเรือลำใดตกลงจากเรือจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการจะปรับให้แพ้ในเที่ยวนั้น แต่ถ้าฝีพายตกด้วยกันทั้งสองลำ กรรมการจะตัดสินให้เรือที่ถึงเส้นชัยก่อนเป็นลำชนะ
๗. ห้ามเรือทุกลำทำการฝึกซ้อมในสนามแข่งขันหลังจากพิธีเปิดทำการแข่งขันของแต่ละวัน
๘. คะแนนในการแข่งขันรอบที่ ๑ และรอบที่ ๒ เรือชนะได้ ๓ คะแนน เรือเสมอกันให้ลำละ ๑ คะแนน และเรือแพ้ได้ ๐ คะแนน
๙. หากเรือลำใดมีคะแนนเท่ากันในรอบคัดเลือก (รอบที่ ๑ หรือรอบที่ ๒) ให้จับสลากลู่น้ำแข่งขันกันใหม่ เพื่อหาลำชนะเข้ารอบต่อไป โดยแข่งเที่ยวเดียว
๑๐. การปล่อยเรือในส่วนถาวรของเรือเสมอกัน และการตัดสิน แพ้- ชนะ ของคณะกรรมการจะตัดสินส่วนถาวรของเรือถึงเส้นชัยเป็นเกณฑ์
๑๑. ให้เรือทุกลำที่ทำการแข่งขันของแต่ละวัน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำกองอำนวยการไว้ลำละ ๑ คน เพื่อติดต่อประสานงานตลอดจนร่วมแก้ปัญหาอันอาจมีขึ้นกับฝ่ายจัดการแข่งขัน
๑๒. ถ้าฝีพายหรือตัวแทนเรือลำใดมีกริยา วาจาไม่สุภาพเรียบร้อยต่อคณะกรรมการดำเนินการทำให้เป็นที่เสื่อมเสียชื่อ เสียง คณะกรรมการอาจพิจารณาปรับให้เรือลำนั้นแพ้ฟาล์ว และปรับไม่ให้เข้าร่วมแข่งขันในสนามนี้อีก เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒ ปี
๑๓. การตัดสินของคณะกรรมการถือว่าเด็ดขาด หากเรือลำใดจะประท้วงให้ยื่นคำร้องขอประท้วงเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อคณะกรรมการรับการประท้วง พร้อมทั้งหลักฐาน และเงินค่าประกันครั้งละ ๑๐๐ บาท และจะคืนเงินค่าประกัน ถ้าการประท้วงเป็นผล และให้ยื่นประท้วงภายในเวลา ๒๐ นาที หลังจากการแข่งขันเรือในเที่ยวนั้นๆ

  • โอกาส หรือเวลาที่เล่น

การแข่งเรือจะแข่งในเทศกาลน้ำหลาก คือในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี

  • คุณค่า / แนวคิด / สาระ

การแข่งเรือเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน บ่งบอกถึงความเป็นไทย เป็นการอนุรักษ์มรดกไทย และเสริมสร้างความสนุกสนาน ทั้งผู้ชม และผู้เข้าแข่งขัน และก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีของคนในท้องถิ่น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชุมชน ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่ไว้เป็นสมบัติชั่วลูก ชั่วหลาน