กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา Acta exteriora indicant interiora secreta

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/12/2007
ที่มา: 
บทความกฎหมาย

 

กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาActa exteriora indicant interiora secreta

        สุภาษิตดังกล่าว ในกฎหมายอาญาถือเป็นหลักสำคัญในการพิจารณาพฤติการณ์การกระทำของจำเลยเพื่อกำหนดฐานความผิดจำเลย โดยพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำแนกเจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้าย กล่าวอีกแง่หนึ่งคือ ผู้กระทำประสงค์ต่อความตาย หรือประสงค์เพียงให้ผู้ถูกกระทำเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ถ้าวินิจฉัยว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่า หากผู้ถูกกระทำตาย ผู้ตายจะมีความผิดตามมาตรา ๒๘๘ แต่หากผู้ถูกระทำไม่ตาย เช่น หลบทัน หรือรักษาพยาบาลทัน ผู้กระทำก็ผิดฐานพยายามฆ่าตามมาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐ ตรงกันข้าม หากวินิจฉัยว่าผู้กระทำมีเจตนาทำร้ายเท่านั้น แม้ผู้ถูกกระทำตาย ผู้กระทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาเท่านั้น ตามมาตรา ๒๙๐


        เนื่องจากเจตนาเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำไม่มีใครหยั่งรู้ได้ ในการวินิจฉัยหรือพิสูจน์ว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่า หรือเพียงแต่มีเจตนาทำร้ายเท่านั้น จึงต้องถือหลักว่า “การกระทำที่แสดงออกมาภายนอกเป็นเครื่องชี้ถึงสภาพจิตใจของผู้กระทำ” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” นั่นเอง


        การใช้ “หลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” เพื่อวินิจฉัยหรือพิสูจน์ว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่า หรือเจตนาทำร้ายนั้น ศาลไทยอาศัยข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้

        ๑. พิจารณาจาก “อาวุธ” ที่ใช้กระทำ

        ๒. พิจารณาจาก “อวัยวะ” ที่ถูกกระทำ

        ๓. พิจารณาจาก “ลักษณะของบาดแผล” ที่ถูกกระทำ

        ๔. พิจารณาจาก “พฤติการณ์อื่นๆ”


        ตัวอย่าง คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในการใช้หลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา เพื่อชี้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าหรือมีเจตนาทำร้าย

        การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปยังผู้ตายกับพวกหลายนัดนั้น ส่อเจตนาให้เห็นว่าจำเลยตั้งใจฆ่า (ฎีกาที่ ๑๔๓๙/๒๕๑๐) แต่ถ้าเป็นการยิงในระยะใกล้เช่น ๑ วา ถูกขาเหนือตาตุ่มกระดูกแตก ซึ่งถ้าตั้งใจฆ่าจริงๆ ก็คงยิงถูกที่สำคัญได้ แสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาฆ่า มีแต่เจตนาทำร้ายเท่านั้น (ฎีกา ๑๐๐๖/๒๕๐๑) หรือกรณีใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่าง ๓ เมตร ถูกบริเวณเอวของผู้เสียหายถือว่ามีเจตนาฆ่า เพราะถ้าเป็นการยิงขู่ ก็มีโอกาสที่จะยิงไปยังทิศทางอื่น เช่น ยิงขึ้นฟ้า (ฎีกาที่ ๕๖๖๔/๒๕๓๔) เป็นต้น


        หากจำเลยใช้อาวุธที่ไม่ใช่ปืน แต่เป็น มีด ขวาน ฯลฯ เช่น ผู้ตายมีขวานและมีดขอเป็นอาวุธ จำเลยมีมีดพกเป็นอาวุธ ได้เข้าต่อสู้ทำร้ายซึ่งกันและกัน โดยต่างไม่มีเวลาที่จะเลือกแทงเลือกฟันในที่สำคัญ ทั้งสองมีบาดแผลรวม ๗ แห่งด้วยกัน ผู้ตายเสียโลหิตมากจึงถึงแก่ความตาย ดังนี้จำเลยผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ไม่ใช่ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา (ฎีกาที่ ๑๐๘๕/๒๕๑๐) แต่หากใช้อาวุธที่ค่อนข้างร้ายแรง ถือว่ามีเจตนาฆ่า เช่น จำเลยโดดจากเรือไปสู้กับผู้ตาย จำเลยใช้มีดดาบยาว ๑ แขน ฟันผู้ตายถึง ๓ แห่ง แผลที่สำคัญถูกที่คอเกือบขาดแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย (ฎีกา ๗๗๗/๒๕๐๕) เป็นต้น

_____________


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • นายเกียรติก้อง กิจการเจริญดี นิติกร ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
  • เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๐), น. ๑๐๙-๑๑๗
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา