การละเล่นพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - เดินกุ๊บกั๊บ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เดินกุ๊บกั๊บ

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  อุดรธานี

เดินกุ๊บกั๊บ เป็นการละเล่นของถิ่นอีสานโดยประดิษฐ์จากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
การเดินกุ๊บกั๊บ เป็นการเล่นสวมรองเท้าต่อขาให้สูงขึ้น สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะใช้ในการเดินข้ามที่ชื้นแฉะ หรือพงหนามที่ไม่รกเรื้อ และสูงจนเกินไป

  • อุปกรณ์ในการเล่น

เอากะลามะพร้าวมาผ่าครึ่งคู่หนึ่งวางคว่ำลงกับพื้น เจาะรูที่ก้นกะลาทั้ง ๒ ข้าง หาเชือกที่เหนียวพอประมาณมา ๑ เส้น มีความยาวพอประมาณที่จะใช้มือดึงในขณะที่ยืนอยู่ได้ ปลายเชือกแต่ละข้างร้อยรูกะลาที่เจาะไว้ จะใช้ตะปูหรือไม้ที่แข็งแรงผูกปลายเชือกที่ร้อยกะลาไม่ให้เชือกหลุดจากรู กะลา
เวลาเล่นใช้เท้าเหยียบลงบนกะลาทั้ง ๒ ข้างให้เชือกตึงอยู่ระหว่างง่ามหัวแม่เท้า เวลาเดินดึงเชือกให้ตึงกะลาติดเท้าไปด้วย กะลากระทบพื้นจะมีเสียงดัง กุ๊บกั๊บ หรือ ก๊อบแก๊บ

  • โอกาสและเวลาที่เล่น

เดินกุ๊บกั๊บเป็นการละเล่นที่เด็กผู้หญิงนิยมเล่นมากกว่าเด็กผู้ชาย เพราะไม่สู้เป็นอันตราย หรือเด็กผู้ชายที่กลัวไม้สูงก็จะเล่นเดินกุ๊บกั๊บ เป็นการละเล่นสนุกสนานของเด็กเล่นได้ทุกโอกาส
การแข่งขันเดินกุ๊บกั๊บหรือเดินกะลาจะไม่ค่อยมีในผู้ใหญ่ เด็ก ๆ จะเล่นกันตามบ้านหรือเล่นในโรงเรียนในเวลาพักลางวันหรือในเวลาว่าง

  • คุณค่า

เป็นภูมิปัญญาของการประดิษฐ์ของเล่นให้เด็กๆ หรือเด็กๆสามารถทำเองได้จากวัสดุพื้นบ้านที่ใกล้ตัว กะลาเมื่อเดินจนแตก หรือเลือกเล่นก็จะกลายเป็นปุ๋ยได้เป็นเชื้อเพลิงได้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางมลพิษ และเป็นการฝึกให้ผู้เล่นรู้จักการทรงตัว ความสนุกสนานอยู่ที่การทรงตัวบนกะลาและพากะลาให้ไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นของเล่นที่ราคาถูกเป็นการประหยัดอดออมรู้จักคิดรู้จักประดิษฐ์เป็นงาน สร้างสรรค์

ปัจจุบันการเล่นเดินกุ๊บกั๊บแทบจะหาไม่ได้มีโรงเรียนน้อยแห่งที่สนับสนุนให้ เด็กเล่นอยู่โรงเรียนจะสอนการละเล่นตามหลักสูตรที่ไม่สู้จะมีเรื่องของท้อง ถิ่นเด็กๆมีรองเท้าสวมใส่ไม่ต้องเกรงว่าเท้าจะเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ของเล่นมีให้เลือกเล่นมากมายและทันสมัย การเล่นเดินกุ๊บกั๊บ หรือเดินกะลาจึงเป็นการละเล่นที่หาดูได้ยากในยุคสมัยนี้