พิธีกรรมภาคเหนือ - พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  เชียงราย

ช่วงเวลา พิธีบวงสรวงจะกระทำก่อนการลงมือจับปลาบึกที่อำเภอเชียงของ จะเริ่มจับปลาบึกตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ของทุกปีซึ่งเป็นช่วงที่ปลาบึกกำลังผสมพันธุ์ และว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ที่ทางต้นน้ำในประเทศจีน

  • ความสำคัญ

พิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึกเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าปลาบึกเป็นปลาที่มีเทพคอยคุ้มครองอยู่ ถ้าไม่มีการบวงสรวงไหว้วอนขอจากเจ้าพ่อของเขา และไม่ปลุกขวัญแม่ย่านางเรือให้มีอานุภาพแกร่งกล้าผู้นั้นก็ยากที่จะจับปลา บึกได้สำเร็จ ดังนั้นบรรดาชาวประมงหรือพรานล่าปลาบึกบ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จึงได้มีพิธีบวงสรวงกันทุกปี จนกลายเป็นประเพณีพื้นบ้านของท้องถิ่น

  • พิธีกรรม

พิธีบวงสรวงจะกระทำบริเวณชายหาดริมแม่น้ำโขง โดยมีศาลเพียงตาและมีรั้วรอบทั้งสี่ด้าน ที่มุมรั้วทั้ง๔ จะผูกต้นกล้วย ต้นอ้อยไว้ ส่วนบนศาลเพียงตาจะมีเครื่องเซ่นบวงสรวงประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน สุราอาหารและผลไม้ สมัยก่อนเครื่องเซ่นสังเวยบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึกและแม่ย่านางเรือมีเพียง ดอกไม้ ธูปเทียนและไก่เป็นๆ โดยจับขาไก่สองข้างให้แน่นและฟาดลำตัวลงบนหัวเรือให้ตายทั้งเป็น เพื่อให้เลือดกระเซ็นรอบๆเรือและเครื่องมือที่ใช้ดักจับปลาบึก จากนั้นก็ขออาหารที่เหลือมาแบ่งกันกิน เป็นอันเสร็จพิธี

  • สาระ

การทำพิธีบวงสรวงก่อนการจับปลาบึกเป็นการสร้างกำลังใจ ความเป็นสิริมงคล และโชคลาภแก่ชาวประมง ตลอดจนเป็นการรักษาไว้ซึ่งประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบกันมาทุกปี