วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

สืบชะตา

ภาค       ภาคเหนือ
จังหวัด    ตาก
ช่วงเวลา ไม่กำหนดเวลา

  • ความสำคัญ

เป็นการต่ออายุให้มีความสุขพ้นจากภยันตรายทั้งปวง

  • พิธีกรรม

การสืบชะตา แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ สืบชะตาหลวง ให้ทุกคนในครอบครัวไปนั่งรวมกันภายในบริเวณขาตั้งสามเหลี่ยมที่จัดไว้ สืบชะตาน้อยจะมีผู้สืบชะตาคนเดียวที่ไปนั่งในขาตั้งสามเหลี่ยม โดยมีวัสดุอุปกรณ์และพิธีกรรมปฏิบัติดังนี้
วัสดุอุปกรณ์
๑. ขันตั้ง ประกอบด้วยของอย่างละ ๔ ได้แก่ หมาก ๔ พลู ๔ เทียน ๔ คู่ ธูป ๔ คู่ ดอกไม้ ๔ เงิน ๕ บาท ๑ สลึง ข้าวสาร ผ้าขาวผ้าแดง
๒. วัสดุที่ใช้สืบชะตา
๑) ต้นกล้วยต้นอ้อย(ให้ความหมายว่าเกิดความงอกงามสดชื่น)
๒) ไม้ง่ามความยาวเท่าศอกของผู้สืบชะตา
๓) หมาก พลู
๔) ตุง (การตัดกระดาษแก้วให้เป็นรูปตุ๊กตา) เลือกสีประจำเทวดานพเคราะห์
๕) ข้าวเปลือก ข้าวสาร
๖) ผลไม้ส่วนใหญ่จะใช้มะพร้าว กล้วยทั้งดิบและสุก
๗) กระบอกน้ำ กระบอกทราย ใช้กระบอกไม้ไผ่ โดยมีข้อแม้ว่า น้ำอยู่บนปลาย ทรายอยู่ล่าง
๘) ด้ายสายสิญจน์
๙) บาตรน้ำมนต์ (น้ำมนต์ประกอบด้วยฝักส้มป่อยเผา แล้วห้ามเป่า นำไปแช่ในน้ำสะอาด)

  • พิธีกรรม

๑. พระสงฆ์นำสายสิญจน์ มาผูกคอผูกสืบชะตาทุกคนแล้วเริ่มสวด
๒. เมื่อใกล้จะจบพอสวดถึงคำว่า ขีณํ ปุราณํ นวํ นตํกิ สมราวิ ฯลฯ ก็จะมีผู้เฒ่าเป็นหญิงหม้ายลงไปใต้ถุนบ้าน เริ่มเผา ด้ายสายสิญจน์ ซึ่งมัดขึงไว้กับเส้นลวด โดยมีความยาวของด้ายเท่ากับ ๑ วา ของผู้สืบชะตาทุกคน การเผาเรียกว่าเผาสายสิญจน์ ค่าคิง ผู้ป่วยจะมีอายุยืนยาวต่อไปหรือมีความเชื่อว่าตายแล้วจะเกิดใหม่
๓. พอสวดเสร็จพิธี อาจารย์ผู้ที่อาราธนาศีล จะเป็นผู้เก็บขาตั้งสามเหลี่ยม
๔. การนำไปทิ้งส่วนใหญ่จะนำไปเก็บไว้ในวัดที่มีต้นโพธิ์หรือต้นไม้ใหญ่ๆ หรืออาจจะเก็บไว้ในป่าที่มีต้นไม้ใหญ่

  • สาระ

การสืบชะตาคล้ายกับการสะเดาะเคราะห์ แต่การสืบชะตามีขั้นตอนและวิธีการยากกว่ามีวัสดุอุปกรณ์มากกว่า เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้เข้าทำพิธี ผู้ที่จะสืบชะตาจะเป็นคนเจ็บป่วยหรือไม่ก็ได้ แต่เห็นว่าปีหนึ่งควรจะทำเสียครั้งหนึ่งเพื่อให้อยู่อย่างมีความสุข