พิธีกรรมภาคเหนือ - พิธีโกนจุก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

พิธีโกนจุก

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  ตาก
ช่วงเวลา เมื่อเด็กมีอายุพอสมควร อาจจะเป็น ๗ ปี ๙ ปี หรือ ๑๓ ปี ก็เตรียมการทำพิธีโกนจุก เช่น กำหนดวันหาฤกษ์งามยามดี

  • ความสำคัญ

พิธีโกนจุก สืบเนื่องมาจากพ่อแม่คลอดลูกออกมาแล้วลูกนั้นเป็นหญิง พ่อแม่เกรงว่าจะไม่ได้ทำบุญจึงไว้จุกให้ลูก หรือลูกบางคนเลี้ยงยากมักเจ็บไข้อยู่เสมอ ๆ พ่อแม่จึงไว้จุกเพื่อจะได้เลี้ยงง่าย พ่อแม่จะโกนผมรอบ ๆ ข้างนอกออก แล้วทำเป็นจุกไว้ตรงกลางกระหม่อม การทำจุกกลางกระหม่อมน่าจะเป็นเพราะตรงกลางกระหม่อมของเด็กมีผมบาง หากปล่อยทิ้งไว้โล้น ๆ อาจจะเกิดอันตรายได้ง่าย เช่น เป็นหวัดหรือถูกของแข็งกระทบ จะทำให้กระทบกระเทือนไปถึงภายในสมองได้ เมื่อไว้จุกแล้วก็พอจะป้องกันอันตรายได้บ้าง

  • พิธีกรรม

ก่อนถึงวันโกนจุก จะมีการตกแต่งสถานที่สำหรับทำพิธีมงคล เตรียมหม้อน้ำมนต์ ผ้าขาว ใบบัว หญ้าแพรก ฟักเขียว มีดโกน กรรไกร ใส่พานไว้ แล้วเตรียมไปนิมนต์พระสงฆ์มาในพิธีสวดมนต์เย็นและฉันเช้า เมื่อถึงวันทำพิธีแต่งตัวเด็กให้สวยงามตามฐานะแล้วให้เด็กไปโกนจุกยังสถาน ที่พิธี โดยให้เด็กถือใบลานด้วยเพื่อป้องกันภูตผีปีศาจที่จะมาทำร้าย นำเด็กเข้าไปฟังสวดข้างในหน้าพระ เมื่อสวดมนต์จบก็ถวายน้ำร้อน น้ำเย็น ครั้นพระกลับวัดแล้วก็เลี้ยงดูผู้ที่มาฟังพระสวดมนต์
ในตอนเช้าพระสงฆ์มาฉันเช้า เมื่อแต่งตัวเด็กเสร็จเรียบร้อยแล้วนำมานั่งข้างหน้าพระ โดยนำฟักเขียวมาวางข้างหน้าเด็ก นำผ้าขาวมาปูบนพานแล้ววางใบบัวลงบนผ้าขาว ใส่ หญ้าแพรกลงกลางใบบัววางไว้เบื้องหน้าพระ พอได้เวลาพระสวดชยันโตถึงบทที่ว่า สีเสปฐวิโบก ขเร พระก็จะขลิบจุกทันที ต่อจากนั้นก็ให้ญาติผู้ใหญ่หรือพ่อของเด็กเป็นผู้โกนผมออกจนหมด แล้วรดน้ำมนต์เด็กเป็นเสร็จพิธี ส่วนผมที่โกนนั้นนำใส่ใบบัวแล้วนำไปลอยในแม่น้ำก่อนจะลอยก็อธิษฐานขอให้ความ สุขความเจริญจงมีแก่เด็กสืบไป

  • สาระ

เป็นพิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันจะเหลือน้อยลง เป็นพิธีที่ทำเพื่อให้พ่อแม่เด็กมีขวัญและกำลังใจในการเลี้ยงลูกและเพื่อให้ ลูกได้นึกถึงว่าตนโตพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้ว