พิธีกรรมภาคเหนือ - สลากภัตทุ่งเสลี่ยม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

สลากภัตทุ่งเสลี่ยม

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  สุโขทัย

  • ช่วงเวลา

ระยะเวลาในการจัดสลากภัต หรือกินสลาก ในอำเภอทุ่งเสลี่ยม จะเริ่มจัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (ตรงกับเดือน ๑๒ ของทางเหนือ) ไปจนถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนออกพรรษา

  • ความสำคัญ

ประเพณีสลากภัต หรือกินสลากของชาวทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย จากคำบอกเล่าของชาวทุ่งเสลี่ยมว่า เด็กเลี้ยงควายที่ได้เห็นพระธุดงค์เดินผ่านมาในเวลาใกล้เที่ยงวัน เมื่อเข้าพักศาลาริมทางเด็กเลี้ยงควายเหล่านั้นก็มีศรัทธาจะถวายอาหารกลาง วันแด่พระธุดงค์ด้วยข้าวที่ตนห่อได้เตรียมมาเพื่อรับประทานในมื้อกลางวัน แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะถวายพระรูปใด เพราะทุกคนต่างก็ต้องการถวายพระภิกษุที่มีอายุมาก ๆ พระธุดงค์เข้าใจจึงบอกเด็กเลี้ยงควายเหล่านั้นให้ไปหาใบไม้มาเขียนชื่อพระ ธุดงค์ให้ครบทุกรูป แล้วให้พวกเด็ก ๆ จับสลาก ใครจับชื่อพระธุดงค์รูปใดได้ก็ให้นำห่อข้าวนั้นไปถวายพระรูปนั้น การกินข้าวสลากหรือสลากภัตจึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น
ประเภทของสลากภัต มี ๓ ประเภท คือ
๑. สลากภัตธรรมดา ที่เรียกว่าก๋วยหมากปุ๊ หรือก๋วยหน้อย หรือก๋วยติ๋ว
๒. สลากภัตขนาดกลาง ที่เรียกว่า ก๋วยวัตถุหรือก๋วยอุ้ม
๓. สลากภัตหลวง หรือก๋วยสลากหลวง

สลากภัตธรรมดาจะเป็นก๋วยน้อยหรือก๋วยหิ้ว จะมีขนาดเล็กหิ้วไปถวายพระได้สะดวกใช้ถุงหรือชะลอมหรือถุงพลาสติกก็ได้
สลากภัตขนาดกลาง หรือก๋วยอุ้มเป็นก๋วยขนาดใหญ่ บางแห่งใช้แบบเก่าคือไม่ไผ่สานเป็นเข่งขนาดใหญ่ ข้างบนตกแต่งด้วยหญ้าคามัดรวมปลายเข้าด้วยกัน โดยแบ่งด้านล่างเป็น ๓ ขา มัดติดกับเข่งเพื่อใช้เป็นที่เสียบสิ่งของที่จะทำทาน ปัจจุบันนิยมใช้ถังน้ำพลาสติกหรืออ่างขนาดใหญ่ข้างในตรงกลางกล้วยหรือหน่อ กล้วยตั้งเป็นเสากลาง เอาสิ่งของที่จะถวายทานมาเสียบไว้

สลากภัตขนาดใหญ่ หรือก๋วยหลวง มักทำเป็นพิเศษในกรณีที่ต้องการแสดงความรัก กตัญญูต่อผู้มีพระคุณและคนอันเป็นที่เคารพรักอย่างยิ่งของลูกหลานและพี่น้อง ก๋วยหลวงมี ขนาดใหญ่มีลักษณะเป็นตะกร้า บ้านจำลองทั้งหลังมีเครื่องครัว เครื่องใช้ไม้สอยที่ใหญ่ ๆ บางทีมีการถวายรถยนต์ก็มี แต่ส่วนมากจะจะถวายแล้วขอคืนในภายหลัง

  • พิธีกรรม

วัดต่าง ๆ จะจัดสลากภัต หรือกินสลาก เมื่อใดก็แล้วแต่จะกำหนดขึ้น เมื่อกำหนดวันเรียบร้อยก็จะเริ่มตั้งแต่วันดา ซึ่งเป็นวันเตรียมการ ชาวบ้านแต่ละบ้านจะเตรียมทำอาหาร ได้แก่ ขนมเทียน ห่อหมก ข้าวต้ม ตลอดจนเครื่องจตุปัจจัยอื่น ๆ มาทำก๋วยสลาก ใช้กระจาด หรือชะลอมรองด้วยใบตองเอาขนมนมเนยใส่ ผู้ที่มีฐานะจะมีจตุปัจจัยมากแสดงถึงฐานะของตนด้วย ก๋วยที่มีราคาแพง หรือมีขนาดใหญ่ เรียกว่า ก๋วยอุ้ม คือต้องใช้คนหามหรือคนอุ้ม

 

วัดต่าง ๆ จะจัดสลากภัต หรือกินสลาก เมื่อใดก็แล้วแต่จะกำหนดขึ้น เมื่อกำหนดวันเรียบร้อยก็จะเริ่มตั้งแต่วันดา ซึ่งเป็นวันเตรียมการ ชาวบ้านแต่ละบ้านจะเตรียมทำอาหาร ได้แก่ ขนมเทียน ห่อหมก ข้าวต้ม ตลอดจนเครื่องจตุปัจจัยอื่น ๆ มาทำก๋วยสลาก ใช้กระจาด หรือชะลอมรองด้วยใบตองเอาขนมนมเนยใส่ ผู้ที่มีฐานะจะมีจตุปัจจัยมากแสดงถึงฐานะของตนด้วย ก๋วยที่มีราคาแพง หรือมีขนาดใหญ่ เรียกว่า ก๋วยอุ้ม คือต้องใช้คนหามหรือคนอุ้ม

ในวันรุ่งขึ้นคือวันทำบุญถวายสลากภัต ก็จะเขียนสลากหรือสลากว่าเป็นชื่อของใคร ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ใคร บางบ้านอาจทำมากกว่าหนึ่งก๋วย เป็น ๕ หรือ ๑๐ ก็ได้ นำใบก๋วยสลากไปร่วมกัน ทายกวัดจะคำนวณพระเณรว่ามีจำนวนเท่าใด มีก๋วยเท่าใดแบ่งจำนวนให้ได้เท่า ๆ กัน แต่ให้พระ ๒ ส่วน เณร ๑ ส่วน พระเณรทุกองค์จะได้รับก๋วยจำนวนเท่า ๆ กัน โดยที่ชาวบ้านจะไม่รู้ว่าก๋วยของตนไปตกอยู่กับพระรูปใด ชาวบ้านต่างก็จะหาว่าก๋วยของตนอยู่ที่ใด ชาวบ้านจะเกิดความสนุกสนานโดยไม่รู้ว่าของตนที่เตรียมมาทำบุญนั้นได้ทำกับ พระรูปใด

ก่อนถึงวันทำบุญถวายสลากภัต ชาวบ้านหนุ่มสาวจะมีการรำวงเพื่อหาเงินเข้าวัดหรือ นำไปทำก๋วยขนาดใหญ่ มีการเตรียมตั้งเวที คัดเลือกนางรำ ซึ่งเป็นสาวงามจากพื้นบ้านมีอายุราว ๑๐-๑๖ ปี มาแต่งตัวเป็นนางรำ หนุ่มก็จะซื้อบัตรมาโค้งนางรำเล่นรำวงกันอย่างสนุกสนาน เงินที่ได้จะนำไปบำรุงวัด

  • สาระ

สลากภัตทุ่งเสลี่ยม จะจัดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีในครอบครัว ชุมชน และเป็นการประกาศว่าบ้านใดมีความเชี่ยวชาญในด้านใด ซึ่งสามารถถ่ายทอดยังลูกหลาน ผู้สนใจให้เข้ามาศึกษาหาความรู้