พิธีกรรมภาคกลาง - ไหว้นางสงกรานต์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ไหว้นางสงกรานต์

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  ราชบุรี
ช่วงเวลา วันที่ ๑๒ ๑๓ เมษายนของทุกปี

  • ความสำคัญ

ชาวตำบลบ้านม่วงทุกคนถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันที่สำคัญมากที่สุดในรอบปี ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ตามทุกคนจะต้องกลับบ้าน ประการแรกเพื่อร่วมทำบุญกุศลในเทศกาลประเพณีสงกรานต์ ประการที่สองเพื่อไปคารวะปู่ย่าตายายและพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ ใครที่ไม่กลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ก็ถือว่าเป็นคนอกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เป็นคนนอกศาสนาไม่รู้คุณค่าของการทำบุญกุศลอันสำคัญสำหรับชาวพุทธศาสนิกชน นอกจากนี้ยังเป็นที่รังเกียจของชาวบ้านอีกด้วย

  • พิธีกรรม

วันที่ ๑๒ เมษายน เป็นวันจัดเตรียมข้าวของและจัดทำสิ่งจำเป็นก่อน เรียกว่า วันสุกดิบ ชาวมอญเรียกวันเตรียมกรานต์ ฝ่ายผู้หญิงจัดเตรียมอาหารคาว-หวาน ส่วนฝ่ายผู้ชายจัดเตรียมหาไม้และผ้าเพื่อปลูกศาลเพียงตาที่หน้าบ้านสูงแค่คอ โดยประมาณ ขนาดความกว้างยาวกะเอาพอดีที่จะวางเครื่องสังเวยบูชานางสงกรานต์หรือเทพี สงกรานต์ โดยจะตั้งศาลนี้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้าน
เช้ามืดวันที่ ๑๓ เมษายน วันมหาสงกรานต์หรือวันกรานต์ข้าวแช่ ข้าวแช่ ๑ ชุดพร้อมด้วยดอกไม้ ธูปเทียน จุดบูชาถวายข้าวแช่แด่นางสงกรานต์โดยเอาตั้งไว้บนศาลเพียงตาที่ปลูกเตรียม ไว้ และมีคำถวายเป็นภาษาบาลี ภายหลังเสร็จสิ้นการถวายข้าวแช่ต้อนรับนางสงกรานต์หรือไว้นางสงกรานต์แล้ว ก็จะนำข้าวแช่ถวายพระสงฆ์และเลี้ยงเพื่อนบ้านที่มาร่วมงาน

  • สาระ

ประเพณีสงกรานต์มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จากหลักฐานที่ปรากฏมีการเทศนากัณฑ์หนึ่งชื่อ "เทศนามหาสงกรานต์" กล่าวถึงที่มาของสงกรานต์ กำเนิดเทพีสงกรานต์ หลักฐานนี้เป็นอันรับรู้กันของชาวพุทธไทยรามัญ (มอญ) ไทย ลาว พม่า ชนชาติที่นับถือพุทธศาสนาด้วยกัน ตามปฏิทินทางสุริยคติถือเอาวันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมษายนของทุกปี สำหรับวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกรานต์ที่ชาวไทยรามัญ (มอญ) เรียก วันกรานต์ข้าวแช่ เชื่อกันว่าวันที่ ๑๓ เป็นวันที่นางสงกรานต์จะมาปรากฏจึงมีพิธีต้อนรับนางสงกรานต์ มีการทำข้าวแช่เพื่อบูชานางสงกรานต์ในตอนรุ่งเช้าของวันที่ ๑๓ เมษายน