พิธีกรรมภาคกลาง - พิธีบวชของชาวมอญ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

พิธีบวชของชาวมอญ

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  สมุทรสงคราม

  • ช่วงเวลา เมษายน-พฤษภาคม ก่อนเข้าพรรษา
  • ความสำคัญ

พิธีบวชของชาวมอญ เหมือนกับพิธีบวชของชาวไทยทั่วไปเพราะต่างนับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน งานจะแตกต่างกันบ้างในเรื่องความเชื่อ และประเพณีของแต่ละคนเท่านั้น

  • พิธีกรรม

ก่อนถึงวันบวช ๑ วัน พ่อแม่นาคจะตั้งศาลเพียงตา เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง สำหรับจัดงานที่วัดหรือที่บ้านซึ่งไม่มีศาลพระภูมิ หากบ้านใดมีศาลพระภูมิให้จัดไหว้ที่ศาลพระภูมิแทน การปลงผมนาค ชาวมอญจะใช้ผ้าขาวรอง ซึ่งเป็นผ้าขาวม้า หรือผ้าสะอาด ชนิดใดก็ได้ที่กว้างและยาวพอที่จะรองรับผมมิให้ตกลงพื้น นำผมทั้งหมดใส่กระทงไปวางไว้โคนต้นไม้หรือลอยน้ำไปเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ เจ้าของ ญาติผู้ใหญ่จะโกนผมกันเองในระหว่างญาติ และนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็นและทำขวัญนาคในตอนหัวค่ำ ซึ่งชาวมอญบางบ้านก็มีการทำขวัญนาคและจัดงานฉลองคล้ายกับคนไทย

เมื่อนำนาคไปอุปสมบท จะมีเครื่องแห่เรียกว่า คานหามแห่นาค ซึ่งแต่ละคนจะประดิษฐ์เป็นรูปต่าง ๆ เช่น รูปม้า รูปเรือ รูปดอกบัว รูปราชสีห์ จะเป็นแบบใดก็ตาม จะต้องมีเก้าอี้วางอยู่ตรงกลางเพื่อให้นาคนั่งคนหามหลายคนก็จะยกคานขึ้นใส่ บ่า แล้วเต้นไปตามจังหวะเพลงรอบอุโบสถจนครบสามรอบ

ก่อนเข้าอุโบสถ จะมีพิธีไหว้เสมา และโยนทาน การโยนทานนั้นจะต้องหยิบสตางค์จำนวนหนึ่งจากพานมาอมไว้ ที่เหลือโปรยทานไปก่อน เมื่อเงินในพานหมดแล้วจึงคายออกเพื่อแจกให้ญาติสนิทและผู้ใกล้ชิด ถึงตอนนี้คนก็จะแย่งกันชุลมุนอันตรายมาก บางทีล้มลงศีรษะแตกก็มี ส่วนเหรียญสุดท้ายที่นาคจะคาบไว้ในปาก ผู้เป็นมารดาจะต้องเอาปากไปคาบเหรียญนี้ออกจากปากนาค แล้วเก็บไว้เป็นเหรียญก้นถุง

ปัจจุบันการแห่แบบใช้คานหามและการโยนทานแบบอมเงินไว้ในปากมีน้อยลง เพราะเป็นการสิ้นเปลือง และมีอันตราย

  • สาระ

ชาวมอญส่วนใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงนิยมนำบุตรหลานมาบวชที่วัดศรัทธาธรรม ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เพราะพระภิกษุที่เป็นชาวมอญจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก และยึดถือขนบธรรมเนียมและประเพณีการบวชแบบชาวมอญอยู่อย่างเคร่งครัด