พิธีกรรมภาคกลาง - ประเพณีบวงสรวงพันท้ายนรสิงห์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีบวงสรวงพันท้ายนรสิงห์

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  สมุทรสาคร

ช่วงเวลา ประเพณีบวงสรวงพันท้ายนรสิงห์ เริ่มในวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ เวลา ๙.๑๙ น. จะทำพิธีบวงสรวง และวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ เวลา ๗.๐๐ น. ชาวบ้านถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์

  • ความสำคัญ

เป็นพิธีกรรมของชาวจังหวัดสมุทรสาคร ที่รำลึกถึงพันท้ายนรสิงห์ซึ่งเป็นวีรบุรุษแห่งความซื่อสัตย์และรักษาไว้ ซึ่งกฏมณเฑียรบาล

  • พิธีกรรมและกิจกรรม

ประเพณีบวงสรวงพันท้ายนรสิงห์ จะเริ่มในวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ เวลา ๘.๐๐ น. ชาวบ้านจะช่วยกันตั้งศาลเพียงตาขึ้นบริเวณด้านหน้าศาลพันท้ายนรสิงห์ โดยศาลเพียงตาอยู่ด้านทิศตะวันออก แล้วช่วยกันเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ กระดาษเงิน กระดาษทอง หัวหมู ๒ หัว เป็ด ๒ หัว ไก่ ๒ ตัว ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมถ้วยฟู ขนมเปี๊ยะใหญ่ ผลไม้ ๙ ชนิด ชนิดใดก็ได้ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำหว้า (ผลไม้ที่ห้ามใช้ในพิธีคือ มังคุด ละมุด เนื่องจากชื่อไม่เป็นมงคล) หมาก ๕ คำ ยาจืด ๑ กำ พลู ๕ จีบ น้ำ ๑ ขัน บายศรีปากชาม ๑ คู่ เวลา ๐๙.๑๙ น. พราหมณ์นุ่งขาวห่มขาว เป็นผู้ทำพิธีบวงสรวง โดยนำผ้าขาวปูบนศาลเพียงตา นำอุปกรณ์ทั้งหมดวางลงบนผ้าขาว จุดธูป ๓ ดอก ท่องนะโม ๓ จบ บูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้ว

จุดธูป ๓๖ ดอก บูชาเทวดาและพันท้ายนรสิงห์ เพื่อขออนุญาตทำพิธีเซ่นสังเวยบูชา เวลา ๑๗.๐๐ น. ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน ๙ รูป สวดมนต์เย็น ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ เวลา ๗.๐๐ น. ชาวบ้านจะถวายภัตตาหารเช้าแด่ พระสงฆ์จำนวน ๙ รูป หลังจากนั้นจะนำของที่เข้าพิธีบวงสรวงแจกจ่ายกันไปรับประทาน หรือนำไปบูชา โดยเชื่อว่าจะมีโชค และโรคภัยไม่เบียดเบียน

  • สาระ

๑.เป็นกิจกรรมที่สร้างเสริมความสามัคคีของชาวบ้านที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันด้วยความภาคภูมิใจแก่ชุมชน
๒. เป็นตัวอย่างเเก่เยาวชนรุ่นหลัง ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของความซื่อสัตย์และการรักษากฎระเบียบ และยังชี้ให้เห็นว่าความดีเป็นสิ่งไม่ตาย ได้รับการกล่าวขวัญยกย่องตลอดไป