พิธีกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - ฟ้อนผีฟ้า

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ฟ้อนผีฟ้า

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  ชัยภูมิ

  • ช่วงเวลา นิยมจัดเป็นงานประจำปีในเดือน ๕ (ประมาณเดือนเมษายน)
  • ลักษณะความเชื่อ

ฟ้อนผีฟ้า เป็นการเซ่นสรวงต่อผีฟ้า "พญาแถน" หรือเทวดาที่สถิตอยู่บนท้องฟ้าเพื่อขอความเป็นสิริมงคล อัญเชิญท่านเข้าร่างทรงให้ลงมาช่วยปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยแก่ชาวบ้านที่มา ชุมนุมในพิธี นอกจากนี้เพื่อเชิญเจ้าเข้าทรงรักษาอาการเจ็บไข้ของผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

  • ความสำคัญ

การฟ้อนผีฟ้าของชาวชัยภูมิ นิยมจัดเป็นงานประจำปียิ่งใหญ่ในเดือน ๕ (ประมาณเดือนเมษายน) เช่น ศาลเจ้าพ่อพระยาแล บ้านหนองปลาเฒ่า ศาลเจ้าพ่อด้วงที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกตาดโตน และที่ภูพระ พระเจ้าองค์ตื้อวัดศิลาอาสน์ ตำบลนาเสียว ห่างจากอำเภอเมือง ๑๔ กิโลเมตร

  • พิธีกรรม

ผู้ฟ้อนผีฟ้ามีทั้งชายและหญิงเป็นผู้สูงอายุแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ละ ๑๔-๑๕ คน คนเป่าแคนหนึ่งคน เมื่อพร้อมจะนำเครื่องเซ่น ได้แก่ หมากเบ็ง หรือพานบายศรี ดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าไตร จีวร แป้งหอม น้ำอบไทย อาหารคาว-หวาน ซึ่งประกอบด้วยข้าวเหนียว ไข่ต้ม และของกินพื้นเมือง นำไปตั้งบูชา นำดาบที่สะพายติดตัวมา ๓-๔ เล่ม วางรวมกัน จุดธูปเทียน ผู้นำทำพิธีเป็นแม่ใหญ่หรือคุณยายซึ่งเรียกว่า หมอทรง หรือนางทรง หรือนางเทียม นำสวดมนต์อาราธนาศีล รับศีลห้า กล่าวขอขมาลาโทษที่รบกวนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และขออัญเชิญเจ้าผู้เป็นใหญ่ให้มาเข้าทรงเอาแป้งโรยไปบนเครื่องเซ่น แจกแป้งหอม และน้ำอบไทย ทากันทั่วทุกคน การฟ้อนรำแบบง่าย ๆ ต่างคนต่างรำ บางคนกระทืบเท้าให้จังหวะตามเสียงแคน โดยฟ้อนเป็นวงกลมเวียนไปทางขวามือของหมอแคน คนฟ้อนจะหยุดเมื่อแคนหยุดเป่าและจะเดินไปกราบที่เจ้าพ่อพระยาแล

  • สาระ

เป็นการเซ่นสรวงต่อผีฟ้า "พญาแถน" หรือเทวดาที่สถิตอยู่บนท้องฟ้า เพื่อขอความเป็นสิริมงคล อัญเชิญท่านเข้าร่างทรงให้ลงมาช่วยปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยแก่ชาวบ้านที่มา ชุมนุมในพิธิ