พิธีกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - พิธีขอขมาวัวควาย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

พิธีขอขมาวัวควาย

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  นครราชสีมา

  • ช่วงเวลา เดือน ๖
  • ความสำคัญ

วัวควายมีความสำคัญตามประเพณีการทำนาของชาวโคราชเป็นอย่างยิ่ง เพราะวัวควายเป็นผู้ให้แรงงานมีบุญคุณ ชาวนาจะทำพิธีขอขมา (ขอโทษ) ที่ต้องใช้แรงงาน ที่ทุบตี ด่าทอต่าง ๆ นานา และขอให้วัวควายแข็งแรงอย่าเจ็บป่วยตลอดฤดูกาลทำนา

  • พิธีกรรม

พิธีการขอขมาวัวควายจะมีอุปกรณ์ในการประกอบพิธี ดังนี้
๑. กรวยก้นแหลม ๒ กรวย
๒. ดอกไม้
๓. บุหรี่มวนใบตอง ๒ มวน
๔. หมากพลู

นำดอกไม้ บุหรี่ หมากพลู ใส่กรวยก้นแหลม แล้วนำไปเสียบที่กีบเท้าของวัวควายแล้วกล่าวคำขอขมา ดังต่อไปนี้
"...มาเดอ..วันนี่..วันดี..เศรษฐีพญาวัน ข้าพเจ้าจะขอแถกแรกนา เอาวัน..จะขอขมาต่อ (วัว ควาย) ของข้าพเจ้า..เดอ..ว่าควาย (วัว) ก็เท่ากับเป็นบิดา มารดาของข้าพเจ้าข้าพเจ้าจิ๊ได้ไถแถกนาในปีนี้ เมื่อข้าพเจ้าได้ผิดพลาด ทุบตี ได้ว่าอะไรลงไป ก็ขออโหสิกรรมข้าพเจ้าจิ๊ทำนาในปีนี้ ขอให่ได้สมความมุ่งมาดปรารถนา..เดอ..สาธุ" (สำเนียงภาษาโคราช)
เมื่อกล่าวพิธีขอขมาจบ ผู้ที่ทำพิธีกราบ ๓ ครั้ง ที่เท้าวัวควายของตน แล้วทำพิธีไถแรกนาที่เรียกว่า "การไถเอาวัน" คือ เป็นการไถ "เอาฤกษ์เอาชัย" เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองเริ่มไถจากซ้ายไปขวา (ตามเข็มนาฬิกา) ๓ รอบ แล้วไถขวางจากทิศอีสานมาหรดีเป็นเสร็จพิธี แล้วจึงเริ่มไถหว่าน หรือดำจนกว่าจะเสร็จ

  • สาระ

เป็นพิธีกรรมที่ให้สาระคือ แสดงคุณธรรมด้านสามัคคีธรรม เมตตาธรรม และความสำนึกในบุญคุณของผู้มีพระคุณ