พิธีกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - มม๊วด

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

มม๊วด

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  บุรีรัมย์

  • ช่วงเวลา การประกอบพิธีกรรมมม๊วด นิยมกระทำกันในช่วงเดือนเมษายน (เดือน ๓ ถึง เดือน ๕)
  • ความสำคัญ

พิธีกรรมมม๊วด เป็นพิธีกรรมรักษาผู้ป่วยไข้ของชาวไทยเขมร โดยมีคนทรงเรียกว่า "มม๊วด" ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางติดต่อระหว่างมนุษย์กับวิญญาณของผีบรรพบุรุษ และเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองคนและสถานที่

  • พิธีกรรม

ขั้นตอนของการประกอบพิธีกรรมเริ่มต้นด้วยการเข้าทรง (ปัลโจล) หรือโบล เพื่อสืบหาสาเหตุอาการเจ็บป่วย เมื่อทราบสาเหตุของอาการเจ็บป่วยแล้วจะมีพิธีกรรมรักษาโรคนั้นๆ ตามมาโดยญาติพี่น้องจะกำหนดวันประกอบพิธีกรรมและจัดเตรียมสิ่งขององค์ประกอบ ต่างๆอันได้แก่การสร้างปะรำพิธี จัดหาเครื่องเซ่นบูชา เครื่องแต่งกายของมม๊วดและเครื่องดนตรีเป็นต้น การประกอบพิธีกรรมแต่ละครั้งจะมีการบอกกล่าวกับญาติพี่น้องหรือญาติผี บรรพบุรุษเดียวกัน (ผีเดียวกัน)พิธีกรรมเริ่มต้นด้วยดนตรีบรรเลงให้แก่ครูมม๊วดขณะเข้าทรงและ ดำเนินไปตามบทและขั้นตอนมม๊วดคนอื่นๆก็เริ่มทรง ส่วนผู้ร่วมพิธีกรรมคนอื่นๆ ก็เข้าปะรำพิธีล้อมรอบคอยดูคอยฟังและคอยสอบถาม จะมีพี่เลี้ยงคอยรับสิ่งของที่มม๊วดต้องการและคอยเข้าไปเคารพสักการะ บรรพบุรุษที่เข้าทรง และเรียกหรือแนะนำคนรุ่นหลังให้รู้จักชื่อของผีที่มาเข้าสิงมม๊วดทราบ นอกจากนี้จะมีการสอบถามสารทุกข์ต่างๆ ต่อกันทั้งคนเป็นและผี สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ตามความพอใจ
สามารถคุยกันในเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างอิสรเสรี

  • สาระ

การรักษาพยาบาลในพิธีกรรมมม๊วด นอกจากเป็นการรักษาร่างกายยังมีผลทางด้านจิตใจด้วย มีดนตรีบรรเลงเพื่อให้ มม๊วดร่ายรำประกอบจังหวะเป็นการออกกำลังกายการบีบนวดตำแหน่งต่างๆ ของร่างกายคล้ายคลึงกับกายภาพบำบัด แต่สิ่งที่เห็นว่าสำคัญมากคือสายใยแห่งความสัมพันธ์ระหว่างคนในหมู่บ้านซึ่ง เชื่อมโยงประสานและพึ่งพาอาศัยกันทั้งด้านเครือญาติและเพื่อนบ้านร่วมชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับการประกอบพิธีกรรมมม๊วด ยังเป็นการรวมกลุ่มในสังคมที่มีลักษณะพิเศษคือรวมกลุ่มที่เกิดจากความเชื่อ ในเรื่องผีบรรพบุรุษของบุคคลในตระกูลโดยมีผู้สูงอายุในตระกูลเป็นผู้นำ