พิธีกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - พิธีศพและการเชิญวิญญาณผู้ตายคืนเรือนของชาวไทโซ่ (ซางกะมูดและอล็อง กะมูด)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

พิธีศพและการเชิญวิญญาณผู้ตายคืนเรือนของชาวไทโซ่ (ซางกะมูดและอล็อง กะมูด)

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  สกลนคร

  • ช่วงเวลา เมื่อสิ้นชีวิต
  • ความสำคัญ

ชาวกะโส้ หรือ กะโซ่ ในเขตอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีภาษาพูด และพิธีกรรมแตกต่างไปจากกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว โดยเฉพาะพิธีปลงศพของชาวโส้นั้นเป็นพิธีกรรมทางภูติผี (แต่เดิมไม่มีพิธีทางพุทธศาสนา) โดยเฉพาะในพิธีงานศพชาวโส้นั้นมีพิธีทำให้ผู้ตายไม่เป็นผีดิบ เรียกว่า "ซางกะมูด"

ชาวโส้ หรือ กะโส้ หรือ กะโซ่ เป็นชนเผ่าหนึ่งที่ใช้ภาษาเหมือนกับกูย (ส่วย) คือ ภาษาเดียวกันออกเสียงเพี้ยนกันบ้าง ตามลักษณะภาษาถิ่น แต่คำพื้นฐานของภาษาโส้ และกูย นั้นตรงกันเป็นส่วนใหญ่ มีบางคำประมาณ ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นคำที่ใช้เฉพาะเผ่าพันธุ์ ชาวกะโส้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมบางตำบล อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตำบลดงหลวงและใกล้เคียง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร บางตำบลของอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย

ชาวกะโส้มีผิวคล้ำกว่าไทย-ลาว ถิ่นฐานเดิมของชาวกะโส้อยู่ที่เมืองมหาชัย กองแก้ว และแขวงเมืองคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อพยพเข้ามาอยู่ในภาคอีสานสมัยรัชกาลที่ ๓ หลังปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ชาวกะโส้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มก้อน ได้แก่ อำเภอกุสุมาลย์ มีเจ้าเมืองเป็นชาวกะโส้ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเขียนเมื่อครั้งตรวจราชการมณฑลอุดร พ.ศ. ๒๔๔๙ ว่า "…ฉันได้เห็นการเล่นอย่างหนึ่ง ซึ่งพระอรัญอาสา เจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑล เอามาให้ดู เรียกว่า "สะลา"คนเล่นล้วนแต่เป็นผู้ชายเปลือยตัวเปล่า นุ่งผ้าขัดเตี่ยวมีชายห้อยข้างหน้า และข้างหลัง อย่างเดียวกับชาวเงาะนุ่ง "เลาะเตี้ยะ" ลักษณะที่เล่นนั้นมีหม้ออุ ตั้งอยู่กลางหม้อหนึ่ง คนเล่นเดินเป็นวงรอบหม้ออุ มีต้นบทนำขับร้องคนหนึ่ง

สะพายหน้าได้คนหนึ่ง ตีฆ้องเรียกว่า "พเนาะ" คนหนึ่ง ถือชามติดเทียนสองมือ คนหนึ่งถือตะแกรง คนหนึ่งถือมีดกับสิ่วเคาะกันเป็นจังหวะคนหนึ่ง รวมแปดด้วยกัน กระบวนการเล่นก็ไม่มีอะไรนอกจากเดินร้องรำเวียนเป็นวงเล่นพักหนึ่งแล้วก็ นั่งลงกินอุ แล้วก็ร้องรำไปอีก อย่างนั้นเห็นได้ว่าเป็นของพวกข่าตั้งแต่เป็นคนป่า…" การเล่นดังกล่าวคือพิธีกรรมเซ่นผีของชาวกะโส้ เรียกในปัจจุบันว่า "โส้ทั่งบั่ง"

การแต่งกาย ผู้ชายกะโส้ปัจจุบัน แต่งกายเหมือนไทยลาว สมัยอดีตนุ่งผ้ากะเตี่ยว หากชายผู้ใดเรียนอาคมไสยศาสตร์ จะใส่ลูกประคำแก้วคล้องคอเป็นสัญลักษณ์ด้วย หญิงจะใส่เสื้อสีดำแขนกระบอกเลยข้อศอกลงมาเล็กน้อย ผ่าอกขลิบแดงปล่อยให้เลยชายเสื้อลงไป ๒ - ๓ นิ้ว กระดุมเงินกลม หรือเงินเหรียญเท่าที่หาได้ ชายเสื้อด้านข้างแหวกชายสองข้าง ใช้ด้ายแดงตกแต่งขอบชายเสื้อ คอเสื้อ และปลายแขน ชายเสื้อจะมีด้ายแดงปล่อยให้เลยห้อยลงมาตรงเอวทั้งสองด้าน ๒ - ๓ ปอยผ้านุ่งใช้ผ้ามัดหมี่ ฝ้ายสีน้ำเงิน - ขาว ต่อตีนซิ่นและหัวซิ่นด้วยผ้าแถบสีสันสวยงามทรงผมผู้หญิงจะเกล้ามวยสูง เรียกว่า "มะยวล" ในงานพิธีนุ่งผ้าไหม ใส่กำไลข้อมือ ข้อเท้า สร้อยเงิน ตุ้มหู ตามฐานะ ห่มผ้าสไบทับเสื้อด้วย

  • พิธีกรรม

เมื่อชาวโส้คนใดถึงแก่กรรมซึ่งเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ หรืออาการตามธรรมชาติทั่วไป มิได้เกิดจากอุบัติเหตุแล้ว สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการบอกญาติพี่น้องให้ทราบและมาร่วมกันจัดพิธีศพ ในจำนวนญาติพี่น้องคนที่สำคัญคือน้าบ่าว หรือน้องชายของแม่เป็นรายแรก หลังจากนั้นก็จะบอกญาติคนอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลในโอกาสต่อไป รวมทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองคือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน การไปบอกน้าบ่าวนั้นเป็นธรรมเนียมว่าต้องเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ไปด้วยเพื่อให้น้าบ่าวนำมาเคารพศพ
เมื่อน้าบ่าวมาถึงจึงเริ่มการแต่งศพให้ผู้ตายมีใบหน้าสดสวยเสมือนยังมีชีวิต เช่นการใช้แป้งหรือขมิ้นทาหน้า มีการใส่เงินเหรียญ ๑ อัน หรือ ๒ อันไว้ในปากของผู้ตาย เพื่อให้ผู้ตาย ร่ำรวย ถ้าจะไปเกิดใหม่ ส่วนญาติมิตรอีกกลุ่มหนึ่งก็จะจัดการทำโลงศพเพื่อเตรียมไว้ในการนำไปเผา

การดอยศพ (เก็บศพ) ก่อนนำไปเผานั้น ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ตายเป็นสำคัญทั้งนั้นเพราะถ้าเก็บศพไว้นานหลายคืนก็จะ ต้องเตรียม อาหาร เหล้า บุหรี่ ไว้เลี้ยงแขกสำหรับชาวโส้ที่นับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการนับถือผี ก็จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดอภิธรรมหน้าศพด้วย กลางคืนจะมีการเล่นเกมในหมู่ญาติมิตรที่มาในงานศพหลายชนิด ที่นิยมกันมากคือเกมจับไม้สั้นไม้ยาว

การเล่นเกมจับไม้สั้นไม้ยาวนี้ จะมีผู้หนึ่งเป็นกรรมการซึ่งทำหน้าที่ซ่อนไม้จำนวนหนึ่งเท่าผู้เล่น หรือเท่าจำนวนทีมฝ่ายหญิงฝ่ายชายเมื่อเริ่มเล่น ผู้ที่เป็นผู้แทนของทีมหรือกลุ่ม หรือผู้เล่นทั้งหมดจะมาจับไม้จากกรรมการ ถ้าปรากฏว่ามีผู้ใดจับได้ไม้สั้นหรือหัวหน้าทีมจับได้ไม้สั้นแล้ว ผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะ สามารถทำโทษผู้แพ้ (ไม้สั้นจะมีเพียงอันเดียว) เช่น การเขกเข่าได้ ชาวโส้หนุ่มสาวนิยมการเล่นเป็นทีมหรือกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้ชาย ซึ่งถ้าฝ่ายใดชนะก็จะไล่ตีฝ่ายแพ้อย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะฝ่ายชายเมื่อชนะมักจะถือโอกาสแตะต้องแก้ม ร่างกายของฝ่ายหญิงไปด้วย และฝ่ายหญิงก็จะไม่ถือสาหาความแต่ประการใด ทั้งนี้เพราะมุ่งแต่ความสนุกสนาน การละเล่นอีกชนิดหนึ่งก็คือการแกล้งเอาดินหม้อหรือสีดำเขียนหน้าตาผู้ที่นอน หลับ เป็นที่ตลกขบขันแก่ผู้พบเห็น การทำเช่นนี้มีความเชื่อแฝงอยู่ด้วยว่าเป็นการทำให้ผีผู้ตายจำไม่ได้ และจะไม่มารบกวน บางรายก็เล่นพิเรนถึงกับเขียนสีไว้ในร่มผ้าฝ่ายหญิง และหยอกล้ออย่างขบขันเมื่อรู้ตัวตื่นขึ้น

พิธีซางกะมูด เป็นพิธีหนึ่งของชาวโส้ ก่อนที่จะนำศพลงจากเรือนไปเผา คำว่า "ซาง" ในภาษาโส้แปลว่า "สางหรือจัดให้เป็นระเบียบ" คำว่า "กะมูด" แปลว่า ผี ซางกะมูด จึงหมายถึง การจัดพิธีเกี่ยวกับผู้ตายให้เป็นระเบียบเรียบร้อยก่อนที่จะนำศพไปเผา

ชาวโส้เชื่อว่าผู้ตายด้วยอาการธรรมชาตินั้นเรียกว่า "ผีดิบ" การทำพิธีซางกะมูดก็เพื่อจะทำผีดิบให้เป็น "ผีสุก" มิฉะนั้นญาติพี่น้องจะได้รับอันตรายจากผีดิบ เช่น เจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุ ชาวโส้ที่เคร่งครัดและมีความเชื่อเช่นนี้ ในเวลากลางคืนจะทำพิธีซางกะมูดหลายครั้งก่อนที่จะนำศพลงจากเรือนไปเผา

พิธีจะเริ่มขึ้นในเวลาเย็นก่อนวันที่กำหนดจะนำศพไปเผา ซึ่งบรรดาญาติพี่น้องจะอาบน้ำศพมัดตราสัง ๓ เปลาะ ในท่าศพพนมมือแล้วจึงนำศพใส่โลง อาจมีการนำผ้าที่มีลวดลายสวยงามมาพาดประดับโลงศพ หลังจากญาติพี่น้องผู้ตายที่เป็นสกุลผีเดียวกัน หรืออยู่ในจุ้มผีเดียวกันประมาณ ๕ - ๑๐ คน ก็จะยืนล้อมข้างโลงศพ ทั้งสองข้าง ๆ ละเท่า ๆ กัน ใกล้ ๆ ศีรษะของผู้ตายจะมีอุปกรณ์ประกอบพิธีคือมีขันกะหย่อง (พาน) สานด้วยไม้ไผ่ ๒ ใบ ไม้ไผ่สานเป็นจักจั่น ๕ ตัวใส่ไว้ในขันกระหย่องใบละ ๒ ตัว (จักจั่นมีความหมายว่าให้ผู้ตายมีความสุขสนุกสนานเช่นจักจั่นที่กรีดเสียง ร้องบนต้นไม้) มีไม้ไผ่บาง ๆ ๒ คู่ แทนสัญลักษณ์ของผู้ตายวางบนขันกะหย่องนอกจากนี้บางบ้านเรือนยังจัดให้มีจอก ใส่น้ำหรือเหล้า ซองใส่ดอกไม้ ๔ ซอง หรือ ๑๖ ซอง หูช้างซึ่งมีลักษณะคล้ายพัดโบก ช้าง ม้า จำลองทำด้วยไม้ยอ ผ้าฝ้ายพันศีรษะขนาดยาว ๔ ผืน สั้น ๒ ผืน
เมื่อได้เครื่องเซ่นบูชาวิญญาณแล้ว น้าบ่าว หรือญาติสนิทของผู้ตายจะกล่าวคำส่งวิญญาณ ส่วนญาติผู้ตายซึ่งถือเครื่องเซ่นบูชาวิญญาณจะอยู่ในอาการสงบ หลังจากกล่าวคำส่งวิญญาณจบแล้วน้าบ่าวก็จะนำญาติที่ยืนอยู่รอบโลงศพเดินวนไป ทางซ้าย ๓ รอบ แล้วเดินกลับมาทางขวาอีก ๓ รอบ ญาติผู้ตายบางคนจะถือเหล็กแท่งพังฮาดหรือฆ้องตีเป็นจังหวะ อีกอย่างหนึ่งคือการนำไหเปล่าขึงตึงด้วยยางที่ปากไห แล้วดีดเป็นเสียง และทุกคนจะร้อง เฮะ ๆๆๆๆ …. เป็นจังหวะ พร้อมกับจังหวะของเครื่องมือที่จะดีดหรือตีให้เกิดเสียง ชาวโส้เชื่อและยืนยันกันว่า ในสมัยโบราณญาติผู้ตายจะใช้บั้งหรือกระบอกไม้ไผ่ที่เป็นลำยาว ๆ พอประมาณ กระแทกกับพื้นเป็นจังหวะที่เดินวนรอบ ๆ ศพ และเป็นต้นกำเนิดการเล่นทั่งบั้ง หรือ เรียกตามภาษาโส้ว่า

"สะลา" (ซึ่งในปัจจุบันได้ดัดแปลงให้มีสตรีแต่งกายงดงามร่ายรำในงานการแสดงของวัฒน ธรรมชาวโส้ แต่ก็ยังมีผู้ชายยืนกระแทกกระบอกไม้ไผ่กับพื้นเป็นจังหวะเช่นเดิม)

เมื่อขบวนญาติพี่น้องเดินวนซ้ายและวนขวาครบ ๓ รอบแล้ว ก็จะกราบและกล่าวขอขมาผู้ตายเพื่อมิให้มีเวรกรรมแก่กัน และขอศีลขอพรตามจารีต หลังจากนั้นผู้เป็นน้าบ่าวจะนำด้ายหรือเชือกเส้นเล็ก ๆ มาวางไว้ที่ศพ ปลายเชือกอีกด้านหนึ่งให้ญาติพี่น้องถือไว้ เมื่อกล่าวคำอำลาแล้วก็ตัดเชือกระหว่างกลาง เป็นการแสดงว่าขาดจากสภาพเดิมหรือผู้ตายมีสภาพมิใช่มนุษย์แล้วจากนั้นจึงนำ ศพลงจากบ้านเรือน

การนำศพไปป่าช้านั้น ชาวโส้นิยมหามศพโดยนำไม้ไผ่ประมาณ ๑๐ ลำ ยาวประมาณ ๕ เมตร มาผูกมัดให้แน่นคล้ายแพหรือแคร่ แล้วนำหีบศพตั้งข้างบนแคร่ ชาวโส้ที่นับถือพุทธศาสนาจะนิมนต์พระสงฆ์มานั่งบนแคร่หน้าโลงศพ เพื่อสวดมนต์ไปตลอดทางจนถึงป่าช้าท้ายหมู่บ้าน ส่วนคนหามนั้นก็ผลัดเปลี่ยนกันตลอดทาง ขณะที่ศพเคลื่อนไปนั้นจะมีการโปรยข้าวตอก หรือข้าวคั่วตามหลัง การทำเช่นนี้ชาวโส้มีความเชื่อหลายอย่าง เช่น ต้องการให้ผู้ตายหาทางเดินกลับบ้านได้ หรือเชื่อว่าให้ผีที่อยู่บนแคร่หามลงมารับส่วนบุญ เพื่อจะทำให้น้ำหนักลดลง (การโปรยข้าวตอกในปัจจุบันยังกลั่นแกล้งเพื่อนฝูงที่เดินตามแคร่หามศพ เช่น นำมดแดง หรือ หิน โคลน ผสมกับข้าวตอกเหวี่ยงให้ถูกผู้คนในขบวนแห่ศพด้วย เพื่อช่วยให้สนุกสนานไม่โศกเศร้าจนเกินไป)

ในปัจจุบันเมื่อพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลต่อชาวโส้มากขึ้น การบวชหน้าศพทั้งเป็นสามเณรและภิกษุสงฆ์ก็มีจำนวนไม่น้อย สำหรับสตรีที่ต้องการไว้ทุกข์จะแต่งกายด้วยผ้าขาวคล้ายนางชี และใช้ผ้าขาวมัดผม

เมื่อขบวนศพถึงป่าช้าแล้ว ชาวโส้จะหาฟืนในป่ามาทำเป็นกองฟอน (ที่เผาศพ) ไว้และตกแต่งให้เป็นกองฟอนขนาดใหญ่พอที่จะวางโลงศพ ก่อนเผาศพอาจมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมาติกาบังสุกุลแล้วเป็นผู้จุดไฟด้วย หลังจากนั้นบุคคลอื่น ๆ ก็จะหาฟืนมาสุมเพิ่มให้ลุกโชติช่วง ในกลุ่มที่มิได้จัดพิธีสงฆ์ก็จะทำการเผาศพทันทีอย่างไรก็ตามยังมีข้อปลีก ย่อยสำหรับชาวโส้บางราย เช่น นำไก่มาจิกหรือเคารพที่โลงศพก่อนเผาศพ มีการทุบมะพร้าวที่เรียกว่าล้างหน้าผี แล้วหาเครือไม้มาตัดแสดงการตัดญาติจากลูกหลาน

เมื่อเผาศพแล้ว ขบวนญาติพี่น้องและมิตรสหายต่างแยกย้ายกันกลับบ้านถ้าเส้นทางนั้นผ่านหน้า บ้านผู้ตาย จะมีญาติผู้ตายที่สูงอายุคอยพรมน้ำมนต์ให้ทุกคนเพื่อเป็นสิริมงคล พร้อมกับกล่าวคำอวยพรว่า "มั่นยืน ๆ ๆ" ซึ่งหมายถึงให้อายุยืนนาน น้ำมนต์นี้มักผสมด้วยขมิ้นมีสีเหลืองอ่อน ๆ

การเก็บกระดูกผู้ตายไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะกระทำในวันใด ขึ้นกับความสะดวกของญาติพี่น้อง ชาวโส้ที่นับถือพุทธศาสนามักนิยมนำอัฐิไปฝังไว้ตามกำแพงวัด แต่ชาวโส้ส่วนมากจะเก็บอัฐิโดยฝังไว้ใกล้ ๆ กับที่เผาศพ แล้วเขียนชื่อผู้ตายใส่แผ่นไม้หรือทำเครื่องหมายอื่นให้เป็นที่สังเกต

ความผูกพันระหว่างผู้ตายและผู้อยู่ในกลุ่มชาวโส้ที่มีความเชื่อว่า วิญญาณผู้ตายวนเวียนอยู่ในบ้านเดิมนั้น เห็นได้จากการที่ญาติพี่น้องจัดหากระติบใส่ข้าวเหนียวมาวางใกล้ๆ ศพ แล้วจุดเทียนไว้ใกล้ ๆ กระติบข้าวเป็นเวลา ๓ คืน เพื่อเซ่นผู้ตาย
นอกจากนี้ ชาวโส้ก็จะต้องทำพิธีเรียกวิญญาณผู้ตายให้กลับมาอยู่กับลูกหลานที่บ้าน พิธีกรรมดังกล่าวจะทำโดยผู้มีความรู้ในเรื่องพิธีกรรม โดยจัดหาเหล้า ๑ ขวด ไก่ต้ม ๑ ตัว และผู้ทำพิธีตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ส่วนที่อยู่ของวิญญาณนั้นเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่ชาวโส้ก็คือ มุมใดมุมหนึ่งของเรือนซึ่งเป็นห้องนอน และถือกันว่าเป็นมุมผีเรือน ผู้ที่มิใช่ญาติโดยสายเลือดเดียวกันจะเข้าไปในบริเวณนั้นมิได้

อล็องกะมูด หมายถึง เชิญวิญญาณผู้ตายที่เป็นญาติซึ่งตายไปแล้ว ๑ เดือน กลับคืนบ้านเรือน มีขั้นตอนดังนี้

๑.พอได้กำหนด และญาติพร้อมแล้ว ก็ไปบอกยาฮีดและบอกน้าบ่าว
๒.จะต้องเซ่นวิญญาณผีเก่าเสียก่อนด้วยเหล้าไห ไก่ตัว โดยทำที่มุมห้องในบ้าน
๓.เชิญผีที่จะมาอยู่ใหม่ โดยเชิญที่บันไดบ้านโดยยาฮีดจะหยิบข้าวสารหว่านลงไปพร้อมกับพูดว่า "มาเดอ มือสันวันดี พร้อม ทั้งพาหวาน มีข้าวหว่านลงไป มีข้าวดำ ข้าวแดง ผีภูไม่ให้มา ผีป่าไม่ให้เสือก ให้มาแต่ผู้เดียวเจ้าเด้อ มาค้ำมาคูณ"
๔.เสร็จแล้วเข้าไปทำพิธีข้างในบ้าน แต่งสำรับกับข้าว ๑ สำรับ ขึ้นจ้ำผีคุณตัวเก่าที่เป็นหัวหน้าโดยบอกว่า ต่อไปนี้พวกเก่าและพวกมาอยู่ใหม่ ให้กลมเกลียวสามัคคีกันมาค้ำมาคูณ ข่อยว่าผิดจึงผิด ข่อยว่าถูกว่าแม้น จึงถูกจึงแม้นเด้อ เด้อ ๆ
๕.เสร็จแล้วมีการกินเลี้ยงกัน ร่วมสำรับกับข้าวกันระหว่างญาติทุกคน พร้อมกับยาฮีดด้วย เป็นเสร็จพิธี

  • สาระ

พิธีซางกะมูดและอล็องกะมูดทำให้เห็นความเชื่อในระบบภูติผีวิญญาณของชนชาวโซ่ ซึ่งนับถือผีมากกว่าพุทธศาสนา ชาวโซ่เชื่อว่าการทำพิธีศพให้ถูกต้องจะทำให้เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว หากไม่ปฏิบัติพิธีกรรมแล้วผีจะรบกวน ซึ่งจะนำสิ่งร้าย ๆ มาสู่ชีวิตได้ ประเพณีชาวโซ่บางหมู่บ้านจะให้นำศพลงจากเรือนด้านอื่นที่มิใช่บันไดขึ้นบ้าน เช่น ทะลุฝาบ้านหรือลงด้านหลังบ้าน เป็นต้น

อย่างไรก็ดีเมื่อจัดพิธีศพไปแล้ว ชาวโซ่เชื่อว่า วิญญาณผีจะต้องมีอยู่เป็นหลักแหล่ง มิฉะนั้นอาจไปทำให้ผู้อื่นเจ็บป่วยได้ จึงต้องทำพิธีอล็องกะมูดเชิญวิญญาณผีมาไว้ที่มุมเรือนของตน จึงทำให้เกิดพิธีกรรม ความเชื่อในเรื่องการเข้าออก ประตูด้านแจหรือมุมห้อง ผีเรือนรวมทั้งการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวบริเวณมุมผีเรือนของผู้ที่มิใช่สาย ตระกูลผีเรือน ระบบผีเรือนยังมีบทบาทในการตรวจสอบความถูกต้องตามฮีตคองของผู้อยู่อาศัยใน เรือนหลังนั้น ทั้งภายในหมู่สายตระกูลเดียวกันและเขย-สะใภ้ ต่างสายตระกูลอีกด้วยระบบผีเรือนจึงเป็นระบบความเชื่อที่ทำให้สังคมในชุมชน ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกฏหมายข้อห้ามใด ๆ