พิธีกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - บุญเลี้ยงบ้าน (เลี้ยงผีปู่ตา)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

บุญเลี้ยงบ้าน (เลี้ยงผีปู่ตา)

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  อุดรธานี

  • ลักษณะความเชื่อ

เชื่อในผีบรรพบุรุษของชุมชน (บ้าน) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ความคุ้มครองดูแลรักษาบ้านให้ปลอดภัย ร่มเย็น หากไม่เลี้ยงบ้านจะเกิดภัยพิบัติ

  • ความสำคัญ

เป็นความเชื่อของชาวบ้านก่อนเริ่มทำนา เพื่อให้บังเกิดความอุดมสมบูรณ์ และเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

  • พิธีกรรม

การเลี้ยงบ้านจะกำหนดเอา พุธแรก หรือ พฤหัสบดีแรกของเดือนหก จ้ำ (ผู้วาวุโสของหมู่บ้านและเป็นผู้นำในการทำพิธี) จะเป็นผู้กำหนดวันเลี้ยงบ้าน ก่อนวันเลี้ยง ชาวบ้านจะไปทำความสะอาดศาลปู่ตา และบริเวณรอบ ๆ ที่ดอนปู่ตา
เช้าวันเลี้ยงทุกบ้านจะนำเครื่องเลี้ยง มี ขัน ๕ เทียน ๕ คู่ ดอกไม้ ๕ คู่ ขัน ๘ มีเทียน ๘ คู่ ดอกไม้ ๘ คู่ อาหารคาว ข้าว แจ่ว และอาหารที่หาได้ตามท้องถิ่น อาหารหวาน ผลไม้ ขนม น้ำ เหล้า หมากพลู บุหรี่ ไปที่ศาล จ้ำจะนำเซ่นไหว้ปู่ตา เมื่อเสร็จพิธีจะนำอาหารกลับไปกินที่บ้านหรือจะเลี้ยงรวมที่หอปู่ตาก็ได้ (หากชาวบ้านยากจนจะรวบรวมเงินช่วยกันทำเครื่องเลี้ยงปู่ตา) ตกบ่ายจ้ำจะนำขบวนแห่ มีนางเทียมไปที่ศาลปู่ตา (นางเทียม คือ หญิงทรงเจ้า) พร้อมขัน ๕ ขัน ๘ เครื่องไหว้ เหล้า บุหรี่ หมากพลู น้ำ ๑ เหยือก (หรือกา) จ้ำเชิญปู่ตาเข้าทรงนางเทียม นางเทียมจะลุกขึ้นฟ้อน จ้ำจะขอคำทำนายความเป็นอยู่ของบ้านจากปู่ตา บ้านนางเทียมขบวนแห่ไปเทียม (เข้าทรง) ปู่ตาในตอนบ่ายจะมี แคน กลอง ฉิ่ง ฉาบ ปืนแก๊ป รูปปั้นผู้หญิงผู้ชาย

บั้งไฟเสี่ยง สำหรับจุดเสี่ยงทายว่า ฝนฟ้าจะดีหรือไม่ดี ถ้าบั้งไฟขึ้นแสดงว่าฝนดี บั้งไฟเสี่ยงไม่ขึ้นแสดงว่าฝนจะแล้ง ข้าวปลา อาหารไม่บริบูรณ์ นางเทียมจะฟ้อนไปทำนายไประยะหนึ่งก็หยุด ปู่ตาออกจากร่างนางเทียมก็เสร็จพิธีเสี่ยง รูปปั้นชายหญิง บั้งไฟเสี่ยง จะต้องเอาทิ้งไว้ที่ปลายนาหรือนอกหมู่บ้าน

  • สาระ

เป็นการแสดงความรัก ความกตัญญู และความผูกพันของชาวบ้านต่อบรรพบุรุษ และยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความสามัคคี ซึ่งนำมาสู่ความมั่นคงของชุมชน รับรู้ชะตากรรมของบ้านและร่วมใจกันต่อสู้ชะตากรรมนั้น ๆ