พิธีกรรมภาคใต้ - การสวดมาลัย (ยักมาลัย)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

การสวดมาลัย (ยักมาลัย)

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  ชุมพร
ช่วงเวลา ใช้ประกอบในพิธีจัดงานศพช่วงกลางคืน

  • ความสำคัญ

การสวดมาลัยเป็นการสวดเพื่อสรรเสริญพระรัตนตรัย อันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทาง พุทธศาสนา

  • พิธีกรรม

การสวดมาลัยเป็นประเพณีประจำงานศพ แต่เดิมพระสงฆ์เป็นผู้สวดโดยจะสวดหลังจากที่สวดพระธรรมเสร็จแล้ว พระที่สวดมีจำนวน ๔ รูป หรือ ๑ เตียง ใช้ตาลปัตรบังหน้า ใช้บทสวดจากหนังสือพระมาลัยหรือที่เรียกว่าพระมาลัยคำสวด (คำสอน) เนื้อหาเป็นธรรมะสั่งสอนให้ผู้ฟังเกรงกลัวต่อบาป กลัวอกุศลกรรม การสวดมาลัยนอกจากเพื่อสั่งสอนสาธุชนแล้วยังเป็นวิธีการแก้ความเงียบเหงาใน ขณะเฝ้าศพ และเพื่อให้เจ้าภาพหรือญาติผู้ตายทุเลาความเศร้าโศกด้วย

สำหรับผู้สวดมาลัยที่เป็นคฤหัสถ์ คณะหนึ่งเรียกว่า "วงมาลัย" วงมาลัยวงหนึ่ง ๆ ควรจะมีประมาณ ๔-๖ คน เป็นแม่เพลง ๒ คน เรียกว่า "แม่คู่" หรือ "ต้นเพลง" ส่วนที่เหลือเป็นลูกคู่ หรือ "คู่หู" ลูกคู่มีหน้าที่ร้องรับการสวดของแม่เพลงและจะมีการแสดงท่าทางประกอบด้วย โดยทุกคนในวงจะร่วมกันแสดงท่าทางและเสียงประกอบให้เข้ากันกับบทที่สวด อาจมีขลุ่ยและรำมะนาเป็นเครื่องดนตรีประกอบ การแต่งกายส่วนใหญ่จะแต่งกายตามปกติ แต่บางวงจะแต่งกายตามเนื้อเรื่อง

การสวดมาลัยจะเริ่มขึ้นหลังจากที่พระสวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว โดยเริ่ม "ตั้งนะโม" เพื่อเป็นการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และ "ไหว้คุณ" คือไหว้ครูอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือต่อจากนั้นจึงสวดบท "ในกาล" อันเป็นบทเริ่มเนื้อเรื่องในหนังสือพระมาลัย ที่เรียกว่าบทในกาลนั้นเพราะคำขึ้นต้นของบทสวดในตอนนี้ขึ้นต้นว่า "ในกาลอันลับล้น" เป็นการเล่าประวัติของพระมาลัยในการที่ได้โปรดสัตว์ทั้งหลายในสวรรค์และนรก ผู้ร้องบทนี้จะเป็นผู้ชาย เมื่อจบบทในกาลแล้วก็จะขึ้นบท "ลำนอก" หรือเรียกว่า "เรื่องเบ็ดเตล็ด" คือจะเป็นเรื่องจากวรรณคดีต่าง ๆ เช่น ขุนช้างขุนแผน สังข์ทอง พระอภัยมณี อิเหนา จันทโครพ เป็นต้น การแทรก "ลำนอก" เข้ามาก็เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้เกิดความสนุกสนาน ในบทลำนอกนี้
อาจร้องเป็นทำนองเพลงลำตัด เพลงนา หรือเพลงฉ่อย ก็ได้ แต่ส่วนมากนิยมว่าเป็นเป็นเพลง "ลำตัด" ชาวบ้านมักเรียกบทนี้ว่า "บทยักมาลัย" คือถือเป็นการพลิกแพลงตามความถนัดของผู้เล่น แต่เดิมไม่มีการเล่นลำนอก หรือเล่นเบ็ดเตล็ด เพิ่งจะมีขึ้นในภายหลัง เพื่อที่จะให้การสวดมาลัยมีความสนุกสนานเพิ่มขึ้น

ในสมัยก่อนการฝึกหัดหรือการซ้อมสวดมาลัยมีปัญหามาก เพราะการสวดมาลัยทำกันเฉพาะใน งานศพ หากฝึกหัดหรือซ้อมสวดมาลัยในบ้านถือว่าไม่เป็นมงคล ผู้ฝึกหัดหรือวงมาลัยจึงต้องไปซ้อมหรือฝึกหัดกันที่ขนำกลางทุ่งนา ชายป่าช้า ในวัด หรือในโรงนา ไม่เป็นที่สะดวกนัก จึงทำให้ประเพณีการสวดมาลัยค่อย ๆ เสื่อมหายไปในปัจจุบัน

  • สาระ

๑. เป็นการสั่งสอนหลักธรรมะเพื่อให้ตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
๒. ใช้คลายความโศกเศร้าในงานศพ