วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

บวชพราหมณ์

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  พัทลุง

  • เวลาในรอบปี สามารถทำพิธีบวชพราหมณ์ได้เพียงวันเดียว คือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔

พิธีกรรมปฏิบัติ

  • คุณสมบัติของผู้ที่จะบวชพราหมณ์

๑. ผู้ที่จะบวชจะต้องเป็นเพศชาย
๒. จะต้องมีเชื้อสายพราหมณ์ โดยบรรพบุรุษจะต้องบวชพราหมณ์สืบเนื่องอย่างไม่ขาดสายคือพ่อจะต้องบวช พราหมณ์ ลูกจึงจะบวชพราหมณ์ได้ แม้ปู่จะบวชแต่หากพ่อไม่บวช ลูกชายก็ไม่สามารถจะบวชพราหมณ์ได้ เพราะถือว่าได้ขาดความเป็นพราหมณ์ตรงช่วงของพ่อไปแล้ว ถึงเป็นพราหมณ์โดยสายเลือด แต่ก็บวชพราหมณ์ไม่ได้
๓. จะต้องมีอายุครบ ๔๐ ปีบริบูรณ์
๔. การบวชสามารถกระทำได้ในวันเดียวเท่านั้นในรอบปี คือวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔
๕. จะต้องเรียนท่องบทสวดคัมภีร์ของพราหมณ์ให้ได้ก่อนถึงวันบวช
๖. เมื่อบวชพราหมณ์แล้วจะต้องถือเพศเป็นพราหมณ์ ครองผ้าขาวตลอดชีวิต ลาสิกขาจากเพศพราหมณ์ไม่ได้จนสิ้นอายุขัย หรือเสียชีวิตก่อนวัยด้วยเหตุต่าง ๆ


สิ่งที่ผู้บวชพราหมณ์จะต้องเตรียมก่อนทำพิธีบวช
๑. เครื่องนุ่งห่ม
๑.๑ ผ้านุ่งโจงกระเบนสีขาว
๑.๒ เสื้อแขนยาวหรือแขนสั้นสีขาว
๑.๓ เสื้อลำลองสีขาวสำหรับซับเหงื่อ
๑.๔ เสื้อคลุมสีขาวชายเสื้อยาวถึงเข่า แขนยาว
๑.๕ ผ้าโพกศีรษะสีขาว
๑.๖ หมวกทรงกระบอกเย็บซ้อนกันด้วยผ้าขาว ๑๒ ชั้น
๑.๗ ผ้าพาดไหล่สีขาว พับซ้อนกันแบบสังฆาฎิ
๒. เครื่องบริขาร
๒.๑ สร้อยลูกประคำสีดำทำด้วยเขาวัว
๒.๒ หอยสังข์
๒.๓ คัมภีร์ที่ใช้สวด

พิธีกรรมในการบวชจะกระทำกันที่วัด ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ ผู้ประสงค์จะบวชจะต้องเดินทางถึงวัดก่อนพลบค่ำ พร้อมเครื่องนุ่งห่มและเครื่องบริขาร เริ่มทำพิธีโดยโกนผมโกนคิ้ว การโกนผมจะเว้นไว้กระจุกหนึ่งบริเวณกลางกระหม่อม เพื่อไว้ทำมวยผม เมื่อโกนผมโกนคิ้วแล้วอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด แล้วนำผ้าขาวมาโพกศีรษะ สวมใส่เสื้อผ้าตามลำดับ แล้วนำเข้าสู่ศาลาการเปรียญเพื่อทำพิธีบวชต่อไป

เมื่อทุกคนมาพร้อมกันเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. พระสงฆ์ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปพระประธาน แล้วให้ศีลห้า พราหมณ์ผู้บวชจะรับศีลห้าก่อน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่พิธีพราหมณ์ โดยพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าจะนำสวดบูชาเทวรูปที่เคารพของศาสนาพราหมณ์ จบแล้วเป่าสังข์ลั่นบัณเฑาะว์ พราหมณ์ผู้บวชเข้าไปนั่งต่อหน้าพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้า จากนั้นพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าทำพิธีสวมหมวกทรงกระบอก โดยจะปลดผ้าโพกศีรษะออกถลกไปด้านหลัง แล้วนำหมวกแขกเข้าสวมแทน โดยไม่ให้ผู้อื่นเห็นศีรษะหรือมวยผม หลังจากนั้นนำสร้อยลูกประคำมาประนมไว้ในมือสวดมนต์แล้วสวมใส่ให้ผู้บวช จากนั้น พราหมณ์ผู้เข้าร่วมพิธีบวชจะช่วยกันเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มโดยสวมเสื้อคลุม ทับ แล้วใช้ผ้าพาดไหล่ทับเสื้อคลุมอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งมอบสังข์ให้ พราหมณ์บวชใหม่จะทดลองเป่าสังข์ พิธีการบวชจึงเสร็จสิ้นลง พร้อมกับการเริ่มพิธีกรรม
ทำบุญปีใหม่ของพราหมณ์

  • สาระ

พราหมณ์ผู้ถือบวชจะได้รับการปฏิบัติจากชาวบ้านเสมือนการปฏิบัติต่อพระสงฆ์ ทั้งนี้พราหมณ์จะมีข้อปฏิบัติเป็นขนบประเพณีคือ
- ถือศีลห้าในศาสนาพุทธ
- ไม่บริโภคเนื้อวัว
- ไม่บริโภคปลาไหล ปลาหมอ
- มีครอบครัว มีภรรยาได้
- นุ่งห่มด้วยผ้าขาวตลอดชีวิต
- โกนผมทุก ๑๕ วัน เหมือนพระสงฆ์
- รับประทานอาหารได้ครบ ๓ มื้อตลอดวัน

พราหมณ์เมืองพัทลุง เป็นมรดกความเชื่อทางศาสนาที่ยังคงดำรงสถานภาพเป็นนักบวช เช่นเดียวกับนักบวชในศาสนาอื่นโดยนักบวชที่เป็นพราหมณ์พัทลุงในปัจจุบันได้ สืบทอดเชื้อสายมาจากพราหมณ์พนักงานพิธีประจำเมืองพัทลุงในอดีต คือ ขุนไชยวาปี ขุนปะไหมสุหรี ขุนศรีสยมภู ซึ่งเป็น ๓ ตำแหน่งใน ๘ ตำแหน่งของพราหมณ์ พนักงานพิธีของเจ้าเมืองพัทลุงที่มีบันทึกไว้ในพงศาวดารฉบับของหลวงศรี วรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๒) ประกอบด้วย ขุนศรีสยมภู ขุนศรีสพสมัย ขุนไชยปาวี ขุนปะไหมสุหรี ขุนสิทธิชัย ขุนไชยธรรม ขุนเทพมุนี ขุนยศ
บรรพบุรุษของพราหมณ์เหล่านี้ได้สืบทอดธรรมเนียมประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ตามขนบนิยมของพราหมณ์ ซึ่งยังคงมีบทบาทต่อสังคมและผู้คนในท้องถิ่นจังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียงจนถึงปัจจุบัน