วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/12/2007
ที่มา: 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

พระสุภูติในพิธีขอฝน

ประติมากรรมรูปพระสุภูติ สร้างขึ้นในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์หรือพิธีขอฝนทำเป็นรูปพระภิกษุมีกายอ้วนใหญ่ มีผิวสีนิล นั่งขัดสมาธิแหงนหน้าขึ้นมองฟ้า มือหนึ่งทำกริยากวักเรียกฝน นิยมสร้างขึ้นเป็นรูปปั้นหรือหล่อ ปรากฏหลักฐานในการพระราชพิธี          รุณศาสตร์สืบมาแต่ครั้งพระเจ้าบรมโกษฐ์ในสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างน้อย สืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ราวต้นรัชกาลที่ ๕ พระราชพิธีนี้จึงเลิกร้างไป

คติการสร้างพระสุภูติในพิธีขอฝน มีที่มาปรากฏอยู่ในพระสูตรและพระอรรถบาลี ว่าด้วย”พระสุภูติเถรคาถา” มีความโดยสังเขปว่า พระสุภูติบรรพชาเป็นพระภิกษุในวันที่ติดตามอนาถปิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นพี่ชายมาในการถวายพระเชตวันวิหาร จากนั้นได้ตั้งความเพียรในการศึกษาพระธรรมและกัมมัฏฐาน จนบรรลุอรหัตผลแล้วได้จารึกไปยังชนบทต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก ครั้งหนึ่งจารึกถึงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จไปยังสำนักของพระสุภูติ และอาราธนาให้อยู่ในเมืองนั้น โดยดำริว่าจะสร้างกุฎีถวาย แต่เมื่อเสด็จกลับมาแล้วทรงลืมเสีย พระสุภูติไม่มีกุฎีที่คุ้มบังจึงพำนักอยู่กลางแจ้งขณะนั้นเป็นฤดูฝน ด้วยอนุภาพของพระสุภูติบันดาลให้ฝนไม่ตกลงมาเลย ชาวพระนครจึงพากันไปร้องทุกข์ต่อพระราชา พระเจ้าพิมพิสารทรงระลึกได้ว่า เหตุที่ฝนไม่ตกชะรอยจะเป็นเพราะพระสุภูติประทับอยู่ในที่แจ้ง จึงมีรับสั่งให้สร้างกุฎีมุงด้วยใบไม้ถวาย แล้วนิมนต์พระเถระให้อยู่ในกุฎีนั้น เมื่อพระเถระเข้าสู่พระกุฎีแล้ว ฝนก็ตกลงมาเพียงเล็กน้อย พระสุติประสงค์จะบำบัดภัยที่เกิดจากฝนตกแต่น้อย จึงกล่าวพระคาถาขอให้เทพดาบันดาลให้ฝนตก ฝนก็ตกลงมาเป็นอัศจรรย์ ในพิธีขอฝนจึงได้ใช้ความในพระคาถาดังกล่าว สวดเสกรูปปฏิมาพระสุภูติและสวดในระหว่างพิธี เรียกว่า”คาถาสุภูโต”หรือ “สวดสุภูโต”

นอกจากนี้ประติมากรรมรูปพระสุภูติ ยังอาจมีที่มาจาก “นิทานพระสุภูติ” ซึ่งแต่งขึ้นในชั้นหลังดังมีเนื้อความกล่าวว่า พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดฯ ให้พระสุภูติ นั่งที่กลางแจ้ง เข้าอาโปกสิณเพื่อบันดาลให้ฝนตก ทั้งนี้ต้องกับหลักฐานธรรมเนียมการตั้งรูปพระสุภูติอยู่กลางแจ้งในมณฑลพระราชพิธี

จากประวัติพระสุภูติเถระ กล่าวว่าเป็นผู้มีรูปกายงาม มีผิวดังทอง จึงได้นามว่า “สุภูติ” หากแต่ประติมากรรมรูปพระสุภูติสร้างขึ้นโดยคติเพื่อความอุดมสมบูรณ์ จึงกำหนดให้มีรูปกายอ้วนใหญ่ หมายถึงความมั่งคั่งบริบูรณ์ และผิวกายสีนิล อันเป็นสีของมหาเมฆตั้งเค้าใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์นั่นเอง

ที่มา : พิพิธภัณฑสาร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒ มกราคม – มีนาคม ๒๕๔๘