ความเชื่อภาคกลาง - การตั้งศาลพระภูมิ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

การตั้งศาลพระภูมิ

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  นครปฐม

  • ช่วงเวลา

มักจะกระทำในเวลาที่มีการปลูกสร้างบ้านเรือน หรืออาคารใหม่

  • ความสำคัญ

การตั้งศาลพระภูมิเป็นการอัญเชิญเทพารักษ์มาสถิตยังศาล เพื่อปกปักรักษาบ้านเรือนให้ปลอดภัยและประสบความร่มเย็นเป็นสุข ตามความเชื่อของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้ประกอบพิธีตั้งศาลพระภูมิ เรียกว่า หมอ เช่นเดียวกับหมอทำขวัญนาคหรือหมอทำขวัญข้าว ซึ่งหมอตั้งศาลพระภูมิส่วนใหญ่ก็ศึกษาเล่าเรียนมาจากบรรพบุรุษ คือ บิดา หรือ ปู่และตา

  • พิธีกรรม

หมอตั้งศาลพระภูมิคนหนึ่งของจังหวัดนครปฐม คือ นายจำรัส ชาวนาฟาง อยู่บ้านเลขที่ ๑๖ หมู่ ๒ ตำบลหนองปากโลง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม นายจำรัสเคยเป็นทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเคยทำงานเป็นยามอยู่ที่สถาบันราชภัฏนครปฐมจนเกษียณ และจึงประกอบอาชีพยาสมุนไพรและทำพิธีตั้งศาลพระภูมิด้วย
การทำพิธีตั้งศาลนิยมทำในวันพฤหัสบดี และทำในช่วงเวลาเช้าถึงเที่ยงวันเท่านั้น ทิศที่นิยมตั้งศาล คือ ทิศตะวันออกและทิศเหนือ โดยเชื่อว่าถ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออกจะดีที่สุด

อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธี ประกอบด้วย บายศรี ดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องเซ่นสังเวย ได้แก่ ผลไม้ กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมถ้วยฟู ถั่ว งา ไข่ต้ม ปลาช่อนต้ม นอกจากนี้ยังมีผ้า ๓ สี คือ ขาว เหลือง ชมพู อย่างละ ๑ ชิ้น น้ำ ๒ แก้ว และเข็มทิศ

การทำพิธี เริ่มด้วยการปูเสื่อตรงหน้าศาล แล้วนำเครื่องเซ่นสังเวยต่าง ๆ วางเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา ดังนี้
กล้วย อ้อย ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมถ้วยฟู ปลาช่อนต้ม

หลังจากนั้นนำสิ่งที่จะตั้งไว้ในศาลพระภูมิมาวางไว้ในถาดข้างหน้าเครื่อง เซ่น ซึ่งได้แก่ พระ ช้าง ม้า ตุ๊กตาชาย-หญิง ตุ๊กตาเทวดา ๙ องค์ เพื่อปกครองบ้านเรือน ปกครองประตู ปกครองสัตว์ ปกครองเสบียง ปกครองเรือกสวนไร่นา และปกครองพืชพันธุ์ เป็นต้น

หมอทำพิธีจะนำพานยกครู ซึ่งประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน บุหรี่ และเงิน ๔๔ บาท ไปวางไว้ใกล้ ๆ แล้วเริ่มทำพิธีท่องคาถาเชิญพระภูมิเจ้าที่ ให้ผ้าสามสีที่เตรียมไว้ผูกที่เสาศาลนำสิ่งที่จะใส่ไว้ในศาลวางให้เรียบร้อย จากนั้นหยิบเครื่องสังเวยอย่างละเล็กน้อยใส่ในกระทงใบตองแล้วนำไปไว้ในศาล เมื่อเสร็จพิธีให้นำเครื่องสังเวยที่เหลือไปรับประทานได้

  • สาระ

ก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น สบายใจ แก่ทุกคนที่อยู่อาศัยในอาคารบ้านเรือนนั้นๆ