ความเชื่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - โส้ทั่งบั้ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

โส้ทั่งบั้ง

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  นครพนม

  • ความสำคัญ

ในเดือนสามนี้นครพนมจะมีประเพณีที่เด่น ๆ เช่น ประเพณีโส้ทั่งบั้งของชาวไทยโส้ บ้านโพนจาน ตำบลโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์และชาวไทยโส้ ตำบลพะทาย อำเภอท่าอุเทน ชาวไทยโส้กลุ่มนี้อยู่ในตระกูลเดียวกับพวกข่า (เผ่าพันธุ์เดียวกันกับขอมโบราณและมอญเขมร เช่นเดียวกับพวกไทยข่า ) ถิ่นฐานเดิมของไทยโส้อยู่ที่เมืองมหาชัยเดิมเรียกว่าภูวานากระแด้ง (ไทยโส้มีอยู่มากในแขวงคำม่วนและแขวงสุวรรณเขตประเทศลาว) อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนภาคอีสาน แถบลุ่มแม่น้ำโขงในสมัยรัชกาลที่ ๓

  • ลักษณะความเชื่อ

ประเพณีโส้ทั่งบั้ง นิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เพื่อบอกกล่าวและเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูที่มีต่อบรรพบุรุษที่ให้ข้าว ปลาอาหารอุดมสมบูรณ์และมีความสุข โส้ทั่งบั้งนี้ ชาวไทยโส้ทั่วไปเรียกว่า แซงสนาม" หรือ เหยา" (เยา)

  • พิธีกรรม

โดยจัดพิธีเริ่มอัญเชิญผีมูลหรือผีบรรพบุรุษมาสิงสู่ในร่างกายของผู้เหยา หรือผู้รำ ผู้รำก็จะออกมาแสดงท่าร่ายรำประกอบคำร้อง ใช้ฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ พิณ แคน ซอ ป ี่ และที่สำคัญคือ กระบอกไม้ไผ่ ๓ ปล้อง กระทุ้งเป็นจังหวะ ผู้รำจะรำท่าต่าง ๆ ตามแต่ว่าผีที่สิงจะมีท่ารำอย่างไร การรำจะมีทั้งสิ้น ๔-๕ รอบ ซึ่งก่อนรำจะเริ่มจากการเหยา (เยา)
รอบที่ ๑ อัญเชิญบวงสรวงผู้มีฝีมือ นักรบ นักดาบ นักมวย
รอบที่ ๒ ไปคล้องช้าง คล้องม้า เพื่อเป็นพาหนะในการสู้รบ
รอบที่ ๓ เป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นอยู่ของไทยโส้ ด้านการทำกิน ทำไร่ ทำสวน ล่าสัตว์
รอบที่ ๔ เป็นการเผาไร่ เพื่อเตรียมที่จะเพาะปลูก
รอบที่ ๕ จะเป็นการร้องรำ เพื่อแสดงเอกลักษณ์โดยเน้นที่ความสนุกสนาน
ข้อสังเกตคือ เครื่องเคาะจังหวะและท่ารำที่อ่อนช้อย แต่แสดงความเข้มแข็งและสนุกสนานมาก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรต่าง ๆ จึงได้อพยพกันมาประกอบอาชีพอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันนี้