ความเชื่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - พิธีบูน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

พิธีบูน

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  นครราชสีมา

  • ลักษณะความเชื่อ

เป็นความเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ทราบสาเหตุ และวิธีการแก้ไขความทุกข์ร้อนเจ็บป่วย

  • ความสำคัญ

เป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ที่กำลังได้รับความทุกข์ร้อนเจ็บป่วย

  • ช่วงเวลา

เมื่อมีผู้เจ็บป่วยในหมู่บ้าน

  • พิธีกรรม

การบูนเป็นการเสี่ยงทายหาสาเหตุแห่งความเจ็บไข้ของชาวบ้าน ผู้ที่จะทำพิธีบูนได้ที่เรียกว่าหมอบูนจะต้องได้รับการถ่ายทอดจากครูดั้ง เดิมซึ่งได้มาจากชั้นบรรพบุรุษ วิธีการของหมอบูนคือการใช้ข้อสันนิษฐานว่า ความเจ็บไข้อาจเกิดขึ้นเพราะการกระทำของผีต่าง ๆ หรืออิทธิพลของที่อยู่อาศัย หรือการออกฤทธิ์ให้โทษจากวัตถุบางอย่างในบ้านที่เรียกว่า "สะเดียด" เช่น มีขันลงหินแตกอยู่ในบ้าน ฝังเสารั้วบ้านผิดวิธี วางสิ่งของในที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งหมอบูนจะทราบได้จากวิธีบูน วิธีการคือ ญาติคนไข้จะเตรียมหมาก ๑ คำ เงิน ๕ บาท หรือข้าวสาร ๑ ขันเล็กกับเงินตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป ซึ่งแล้วแต่ครูของหมอบูนแต่ละคนจะกำหนด หมอบูนจะนำสิ่งของนั้นไปบูชาครูที่หิ้งบูชา จากนั้นถือขันข้าวสารด้วยมือซ้าย มือขวาจับสายเชือกที่ผูกกับฝาเต้าปูนดึงขึ้นให้สูงเหนือขันข้าวสารแล้วอธิ ฐานถึงครูดั้งเดิมว่า "เออ...ย่าเอย ครูบาอาจารย์เอย ลูกหลานเจ๊บป่วยมาหา ซุดแต่ย่าจิ๊บอกเล่าเถิด (ลูกหลานเจ็บป่วยมาหาสุดแท้แต่ย่าจะทำนายเถิด) จากนั้นหมอบูนจะซักถามถึงสาเหตุแห่งความเจ็บไข้ว่า เกิดขึ้นเพราะอะไรใครมาบันดาลหรือกระทำ จะกินอะไร ต้องการอะไร ถ้าถามถูกต้องในแต่ละคำถามฝาเต้าปูนจะแกว่งไปมา เมื่อได้คำตอบในแต่ละคำถามจะผ่อนฝาเต้าปูนลง เมื่อจะถามใหม่จึงหยิบเชือกที่ผูกติดฝาเต้าปูนยกให้ลอยขึ้นเหนือขันข้าวสาร แล้วตั้งคำถามใหม่จนได้ความกระจ่าง รู้ต้นเหตุแห่งความเจ็บไข้ และวิธีการที่จะรักษา

  • สาระ เป็นความเชื่อเกี่ยวกับการหาสาเหตุแห่งปัญหาและการเจ็บป่วยของชาวโคราชวิธีหนึ่ง