ความเชื่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - เลี้ยงตาปู่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
26/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เลี้ยงตาปู่

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  นครราชสีมา

  • ลักษณะความเชื่อ

ตาปู่คือผีคุ้มครองหมู่บ้าน ส่วนใหญ่รู้จักกันในนามตาคงขวัญม้า ชาวบ้านเรียกตาปู่ ตาปู่เจ้าบ้าน หรือชาวอีสานเรียกปู่ตา ที่สิงสถิตของตาปู่คือศาล เรียกว่าศาลตาปู่ มักตั้งอยู่ที่ดอน ที่เนินซึ่งเป็นทางเข้าหมู่บ้าน ที่มีต้นไม้ใหญ่ ลักษณะของศาล เป็นศาลสี่เสา หลังคาจั่ว กว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๓ เมตร ยกพื้นสูงประมาณอกผู้ใหญ่ (๑.๕๐ เมตร) ภายในศาลมีรูปปั้น ช้าง ม้า ตุ๊กตาคน ชายหญิง อาวุธ ทำด้วยไม้ เช่นมีด ดาบ หอก ปืน

  • ความสำคัญ

พิธีเลี้ยงตาปู่ มีความสำคัญเพราะชาวบ้านเชื่อว่า ตาปู่เป็นผู้คุ้มครองภยันตรายทุกด้านแก่ลูกหลานชาวบ้าน ชาวบ้านจะเคารพตาปู่อย่างจริงใจ เด็ก ๆ จะไม่ไปวิ่งเล่นใกล้ศาลตาปู่ เพราะเกรงว่าตาปู่จะรำคาญ แล้วบันดาลให้เจ็บไข้ได้ เมื่อเดินทางออกจากหมู่บ้านถ้าผ่านศาลตาปู่ทุกคนจะยกมือไหว้ แล้วอธิษฐานบอกกล่าวดัง ๆ ว่า " ตาปู่เอย ป๊กปั๊ก รั่กษา คุ่มครองลูกหลานเด้อ (ตาปู่เอย ปกปักรักษา คุ้มครองลูกหลานนะ)

  • พิธีกรรม

วันเลี้ยงตาปู่ จะกำหนดหลังจากประเพณีสงกรานต์ไปแล้ว เมื่อกำหนดวันแล้ว ผู้ชายจะมาทำความสะอาดบริเวณศาล เตรียมเครื่องเซ่น ได้แก่ ไก่ต้ม เหล้า ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว เครื่องแต่งกายสำหรับตาปู่ และโทน ๓ - ๕ ลูก ในวันประกอบพิธี ชาวบ้านชายหญิงจะนั่งล้อมศาลตาปู่ บุคคลสำคัญในพิธีไหว้ตาปู่ คือท้าวเธอ ได้แก่คนทรงกับบริวาร ซึ่งอาจมีจำนวน ๒ - ๔ คน เมื่อเริ่มพิธีคนตีโทนจะตีโทนเสียงดังกระหึ่ม จนตาปู่มาเข้าทรง บริวารซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับการเคารพนับถือ จะถามว่าตาปู่ชื่ออะไร เพราะตาปู่มีหลายคน เช่นตาคงขวัญม้า พญาร่มขาว เฒ่าหลงวัง เป็นต้น เมื่อทราบชื่อแล้ว ตาปู่ที่เข้าคนทรง จะแต่งกายโดยใช้เสื้อผ้าที่เตรียมไว้ แล้วรับเครื่องเซ่นด้วยการใช้ตะเกียบคีบมาดม จากนั้นร่ายรำตามเสียงและจังหวะโทน เมื่ออวยชัยให้พรแก่ลูกหลานแล้ว ตาปู่จะออกจากร่างคนทรง คนทรงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายแล้วเริ่มทรงตาปู่คนใหม่ ไปจนหมดตาปู่ จึงเสร็จพิธี

แต่ถ้าหากว่าชาวบ้านไปบนบานให้ตาปู่ช่วย เช่น วัว ควายหาย ขอให้ตามได้คืน ก็อาจแก้บนด้วยการเซ่นไหว้ตาปู่ด้วยเหล้าไห ไก่ตัว ข้าวปากหม้อ และขนมหวาน ถ้าคนในหมู่บ้านจากบ้านไปทำธุรกิจหลายวัน วันที่กลับมาจะคารวะตาปู่ด้ายการยกมือคารวะ และหักกิ่งไม้สด ๆ หรือหญ้าหนึ่งกำมือ เป็นเครื่องบูชา เพื่อตาปู่จะได้ให้ช้างม้ากิน