วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

มะตือรี

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  นราธิวาส

  • ลักษณะความเชื่อ

มะตือรี เตอรี ปัตตารี เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของหมอไสยศาสตร์ ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้า วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เพื่อรักษาอาการป่วยไข้ บางครั้งก็มีการจัดหามาแสดงต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเลยเข้าใจว่า มะตือรี เป็นมหรสพประเภทหนึ่งด้วย

  • ความสำคัญ

มะตือรีนิยมเล่นเพื่อรักษาคนไข้ที่เชื่อว่าเป็นต้นเหตุของการป่วยที่มาจาก การถูกคุณไสย เวทมนตร์คาถา การฝังรูป ฝังรอย เลขยันต์ ถูกเข็ม ถูกหนังอาคมเข้าท้อง ถูกวิญญาณ (อางิน) ทักทอ เช่น การละเล่นเซ่นไหว้ครูศิลปิน (สำหรับผู้มีเชื้อสายโนรา - มะโย่งและวายัง) โดยอาศัยโต๊ะมะตือรีเป็นผู้ติดต่อสื่อสารกับดวงวิญญาณนำมาบอกกล่าวกับโต๊ะมี โนะ แนะแนวทางให้ทราบกรรมวิธีเพื่อรักษาคนไข้หรือถอดถอนอาถรรพณ์อย่างไร เช่น การเซ่นไหว้ ใช้บน ทำพิธีพลีกรรมขอขมาลาโทษ

  • พิธีกรรม

การแสดงมะตือรี จะประกอบด้วยบอมอ(หมอ) ซึ่งมีชื่อเรียกว่า โต๊ะมีโนะ มีหน้าที่ขับร้องรำนำสรรเสริญเชื้อเชิญเทพเจ้า วิญญาณของบรรพบุรุษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเรียกกันว่า โต๊ะมะตือรีหรือคนทรงเจ้า ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารระหว่างดวงวิญญานกับโต๊ะมีโนะ และมีคนเล่นดนตรีบรรเลงคู่กับการขับลำนำ ๕ - ๖ คน ได้แก่คนซอ ๑ คน รำมะนา ๒ คน คนตีฆ้องใหญ่ ๑ คน คนตีโหม่งหรือฆ้องราง ๑ คน และอาจมีคนตีฉิ่งอีก ๑ คน โดยโต๊ะมีโนะและโต๊ะมะตือรี จะนั่งหันหน้าไปทางผู้ป่วย ผู้เล่นดนตรีทุกคนนั่งทางขวามือของโต๊ะมีโนะ แล้วหมอจะจัดเครื่องเซ่นที่ญาติผู้ป่วยเตรียมไว้ให้ ใส่ถาด ๒ ใบ ใบแรกเอาด้ายดิบมาขดภายในถาดให้รอบถาด แล้วเทข้าวสารเหลืองกระจายให้ทั่วถาด เอาเทียนไข ๑ เล่ม หมาก ๑ คำ เงิน ๕ บาท วางไว้บนข้าวสารเหลือง ใบที่ ๒ เอาข้าวเหนียวเหลือง(นึ่งสุก) ใส่ลงในถาดทำให้เป็นรูปกรวยยอดแหลม เอา
ไข่ไก่ต้มสุกปลอกเปลือกครึ่งฟองนำไปปักไว้บนยอดแหลมของข้าวเหนียว โดยให้ส่วนที่ปอกเปลือกอยู่ด้านบน จุดตะเกียง ๑ ดวง หรือเทียนไข ๑ เล่ม วางไว้ข้างข้าวเหนียวเหลือง แล้วนำถาดทั้งสองไปใส่สาแหรกแขวนไว้เหนือศีรษะของผู้ทำพิธี ส่วนเครื่องเซ่นอีกส่วนหนึ่งให้จัดใส่จานดังนี้ ข้าวตอกจัดใส่จาน ๒ ใบ ใบหนึ่งคลุกน้ำตาลทราย อีกใบหนึ่งไม่คลุก แล้วนำข้าวตอกทั้งสองจาน มาวางไว้ตรงหน้าหมอ ขนมจีน ๓ จับ หมากพลู ๑ คำ กำยาน ถ่านไฟกำลังติดใส่จานอย่างละ ๑ ใบ ให้วางเรียงทางด้านซ้ายของจานข้าวตอก เมื่อจัดเครื่องเซ่นเรียบร้อยแล้ว หมอจะให้คนทรงนั่งหันหน้ากันกับหมอ ให้เครื่องเซ่นอยู่ระหว่างกลางให้ผู้ป่วย (ที่เข้าใจว่าเกิดจากผีร้าย) นอนในที่จัดไว้ในห้องทำพิธี จากนั้นคนทรงจะหยิบกำยานใส่ลงในจานที่ใส่ถ่านกำลังติดไฟและร่ายมนต์ ขณะที่คนทรงกำลังร่ายมนต์อยู่นั้น หมอจะสีซอ (รือบะ) คลอไปด้วย เมื่อร่ายมนต์เสร็จหมอจะหยุดสีซอคืนซอให้กับนักดนตรี แล้วหมอกับคนทรงไหว้ครูพร้อมกันดังนี้ "อาโปง แนแนะ มาอะดีกูรู กูรูยาแงตูเลาะ พาปอ แนแนะยาแง มารือกอ ดายอ" พอไหว้ครูเสร็จ หมอก็ร่ายมนต์เรียกผีมารับเอาเครื่องเซ่นและอธิษฐานบอกกล่าวให้เทวดา มาเป็นสักขีพยานช่วยปกป้องคุ้มครองผู้ป่วย แล้วคนทรงจะทำพิธีเสี่ยงทายว่าผู้ป่วยเป็นโรคเกิดจากผีร้ายที่ใด โดยมีวิธีเสี่ยงทายอยู่ ๒ วิธี คือ เสี่ยงทายจากข้าวตอกเครื่องเซ่นวิธีหนึ่ง และเสี่ยงทายจากเทียนไขอีกวิธีหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะทำพิธีเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คณะมะตือรีของตนนับถือให้เข้าสิงคนทรงแล้วให้คนทรงรักษาอาการเจ็บป่วยของ ผู้ป่วย โดยวิธีใช้ปากดูดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วย เพราะเชื่อว่าการดูดด้วยปาก จะทำให้ผีที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยออกจากร่างผู้ป่วยได้ ซึ่งคนทรงจะต้องดูดผู้ป่วยถึง ๕ ครั้ง ครั้งแรกจะดูดปลายเท้าของผู้ป่วยพร้อมกับดนตรีบรรเลง เมื่อดูดเสร็จดนตรีจะหยุด แล้วหมอจะถามคนทรงว่า "ผีมาจากไหน" คนทรงก็ตอบว่า "ผีมาจากดิน" หมอก็สั่งคนทรงว่าเขาต้องการอะไรให้จัดการให้เขา เสร็จแล้วดนตรีจะบรรเลงต่อ คนทรงก็ดูดร่างกายของผู้ป่วยเป็นครั้งที่ ๒ ที่บริเวณท้องหรือลำตัว ครั้งที่ ๓ ที่ลำคอ ครั้งที่ ๔ ดูดที่ศีรษะหรือใบหน้าของผู้ป่วย ดูดเสร็จแต่ละครั้งหมอก็จะถามว่า"ผีมาจากไหน" คนทรงก็จะตอบว่ามาจาก น้ำ ลม และไฟ ตามลำดับแล้วหมอก็สั่งให้คนทรงปฏิบัติเหมือนกับการดูดครั้งแรก การดูดครั้งที่ ๕ ให้ดูดตามที่คนทรงเสี่ยงทายข้าวตอกว่าคู่สุดท้ายหรือเม็ดสุดท้ายอยู่ที่ใด ถ้าตกอยู่ที่ดินก็ให้ดูดซ้ำที่ปลายเท้า ถ้าตกที่น้ำก็ให้ดูดซ้ำที่บริเวณท้องหรือลำตัว ถ้าตกที่ลมให้ดูดซ้ำที่ลำคอ ถ้าตกที่ไฟให้ดูดซ้ำที่บริเวณศีรษะหรือใบหน้า
เมื่อคนทรงทำพิธีดูดผู้ป่วยเสร็จแล้วหมอไสยศาสตร์จะพูดกับผีในผู้ป่วยว่า "ขอให้ผีที่สิงอยู่ในร่างของผู้นี้ออกเสียเถิดแล้วเราจะจัดการสิ่งที่พวก เจ้าต้องการให้ทุกอย่าง" เมื่อหมอพูดและให้สัญญากับผีที่อยู่ในร่างของผู้ป่วยแล้ว เชื่อกันว่าจะทำให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติ

การประกอบพิธีไล่ผีรักษาความเจ็บป่วยนี้จะกระทำกันในเวลากลางวันหรือกลางคืน ก็ได้ ถ้าทำพิธีวันเดียวหรือคืนเดียวไม่หาย ก็ให้ทำติดต่อกัน ๓ วัน ๓ คืน ถ้าผู้ป่วยยังไม่หายอีกให้เว้นสักระยะหนึ่ง แล้วหามะตือรีคณะใหม่มาทำพิธีอีก จนกระทั่งผู้ป่วยหาย เชื่อกันว่าถ้าประกอบพิธีถูกต้องผู้ป่วยก็จะหายจากความเจ็บป่วยจริงๆ