ความเชื่อภาคใต้ - ใส่บาตรหน้าบ้าน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ใส่บาตรหน้าบ้าน

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  นราธิวาส

  • ลักษณะความเชื่อ

ไหว้หน้าบ้าน ใส่บาตรหน้าบ้าน ไหว้ท้าวเวสสุวัณ เป็นพิธีบวงสรวงบูชาท้าวเวสสุวัณฯหรือท้าวกเวร ซึ่งเป็นท้าวจตุมหาราชองค์หนึ่งประจำทิศอุดร โดยมีท้าวภัทราช ท้าววีรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ พญามือเหล็ก พญามือไฟ นายทองสุข และนายทองอ่อน ร่วมเป็นคณะ เพราะคนทั่ว ๆ ไปเชื่อว่าเทพเจ้าสามารถดลบันดาลและคุ้มครองไม่ให้ผู้คนและสัตว์เลี้ยงในแต่ ละท้องถิ่นเจ็บไข้ได้ป่วย นิยมทำเป็นแต่ละหมู่บ้านปี ละ ๑ ครั้ง ประมาณเดือนสิงหาคม กันยายนของทุกปี สถานที่ประกอบพิธีนิยมประกอบที่ศูนย์กลางชุมชนของหมู่บ้าน หรือส่วนหน้าของหมู่บ้าน

  • ความสำคัญ

เป็นความเชื่อที่คนทั่ว ๆ ไป เชื่อว่าเทพเจ้าสามารถดลบันดาลและคุ้มครองไม่ให้ผู้คนและสัตว์เลี้ยงในแต่ละ ท้องถิ่นเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งหากต้องการให้ผู้คนและสัตว์เลี้ยงดำรงชีพอยู่ด้วยความผาสุกก็ต้องทำการ บวงสรวงเทพเจ้า

  • พิธีกรรม

๑. อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธี มีดังนี้
๑) เครื่องเซ่น (เครื่องบวงสรวง) มีข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวขาว ข้าวจ้าว ไก่คั่ว (แกงคั่วไก) ปลาทอด (มีหัวมีหาง) น้ำเหล้า น้ำบ่อ ขนมโค ขนมขี้ม้า ขนมกรวย ขนมฝักบัว ใส่ถาด ๗ ถาด และหมากพลูที่จีบเป็นคำ (เรียกว่า "หมากสะหมัด")
๒) ผ้าขาว เสื่อ หมอน เทียน ๓ ง่าม (๓ แฉก) ๑ เล่ม
๓) ธงทิว ๑ อัน ระทา มะพร้าวอ่อน ๑ ผล
๔) ร้านเทวดา เป็นร้าน ๒ ชั้น ใต้ถุนสูง มีเสา ๑๖ ต้น
๕) ที่พักนาย กระท่อมยกพื้น
๖) ข้าวต้มผัด (ห่อด้วยใบกะพ้อ) ข้าวสารเหนียว ผลไม้ ข้าวสารจ้าว เงิน
๗) คานหาบ
๒. พิธีสงฆ์ (ตอนค่ำ)
๑) พิธีจะเริ่มต้นในหัวค่ำโดยพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
๒) โนราแขกเริ่มแต่งตัวและพิธีไหว้ครู เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้วก็เริ่มพิธีไหว้พระหน้าบ้านโดยนำเครื่องเซ่น (เครื่องบวงสรวง) มีข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวขาว ข้าวจ้าว ไก่คั่ว (แกงคั่วไก่) ปลาทอด (หัวมีหาง) น้ำเหล้า น้ำบ่อ ขนมโค ขนมขี้ม้า ขนมกรวย ขนมฝักบัว ใส่ถาดจำนวน ๗ ถาด พร้อมถ้วยหมากพลูที่จีบเป็นคำ (ที่เรียกว่า "หมากสะหมัด") และประกอบพิธีตามลำดับ

๓) ไหว้เจ้าที่ ใช้เครื่องเซ่น ๑ สำหรับ วางบนเสื่อ ที่ลาดปูไว้ หอม (ผู้ประกอบพิธี) เริ่มอาราธนาเชิญเจ้าที่ ตัวอย่างคำไหว้เจ้าที่ "เจ้าที่เจ้าแดน ผู้สร้างผู้ล้าง ภูมิทักรักษา เจ้าปัดเจ้าแขวน เจ้าทุ่งเจ้าบ้าน สถานบ้าน…(บอกชื่อบ้าน) วันนี้เขาประชุมประชาอาราธนาให้กิน กินแล้วก็ขอให้ เคราะห์ดีเอาไว้ เคราะห์ร้ายช่วยปัดช่วยเป่า ช่วยพัดช่วยพา ให้ปล่อยไปเถิดปล่อยหนอ…" (ผู้ร่วมพิธีก็ช่วยกันว่า "ปล่อย" ไปด้วย)

๔) ไหว้กราหมาด (ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์) ใช้เครื่องเซ่น ๑ สำรับ วางบนผ้าขาวซึ่งปูลาดบนเสื่อและหมอนติด "เทียน ๓ ง่าม" (๓ แฉก) ๑ เล่ม ในการไหว้ หมอจะอาราธนาสิ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ในละแวกนั้นมาเป็นสักขีพยาน โดยอาราธนาทั้ง ๘ ทิศ ดังตัวอย่าง "ขุนแก้วขุนไกร ศักดิ์สิทธิ์ในตากใบ เกาะสะท้อนฉิมพลี ท่านโคกอิฐ ท่านโกกง โคกค้อแดง ยอดบ่อสองอิล่องน้ำแบ่ง ป่าไม้ชายกะเหลือ บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๘ ทิศมุมเมืองที่ไม่รู้จักหน้าข้าชื่อ ขอให้มากินแล้วช่วยรู้ช่วยเห็นเป็นสักขีพยานว่าวันนี้เขาไหว้หน้าบ้าน (หรือไหว้ท้าวเวสสุวัณ) แล้ว

๕) ไหว้บ้าน หรือไหว้ท้าวเวสสุวัณ ใช้เครื่องเซ่น ๕ สำรับ เริ่มต้นด้วยการรำ "ระทา" มาติดเทียนตามส่วนต่าง ๆ และติดเทียน (ธงทิว) ๑ อัน โดยเขียนว่า "ท้าวเวสสุวัณ นายทองสุข นายทองอ่อน ปักไว้ที่ยอดระทา เมื่อจุดเทียนทุกเล่มแล้วก็ยกระทาให้ยืนและฝังติดไว้กับพื้น พร้อมทั้งนำเครื่องเซ่นจำนวน ๓ สำรับ มะพร้าวอ่อน ๑ ผล มาวางบนเสื่อ และอีก ๑ สำรับ นำไปหยิบใส่ที่ "ร้านเทวดา" ส่วนอีก ๑ ถาด นำไปวางบน "ที่พักนาย" และจุดเทียนไว้ หลังจากนั้นหมอ (ผู้ประกอบพิธี) ก็เริ่มอาราธนา หลังจากนั้นโนราแขกซึ่งประกอบด้วยผู้แสดง ๔ คน เรียกตามลำดับ คือ (๑) โนรา (๒) นาง (๓) ฤาษี ซึ่งถือไม้เท้าที่มีเทียนติดไว้ (๔) พราน (ตัวตลก) มีหน้ากากสวม ก็จะร่ายรำเวียนขวาไปรอบ ๆ ระทา ๓ รอบ และหมอก็เดินตามหลังโนรา เป็นอันเสร็จพิธีในตอนกลางคืน

๓. พิธีในตอนเช้า
๑) พิธีตอนเช้า เริ่มด้วยมีการตักบาตรที่หน้าบ้านและมีพิธีสงฆ์
๒) เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์โนราแขกเริ่มเล่นต่อไปจนกระทั่งถึงพิธีส่งแพหรือ"ส่ง เทวดา" โนราแขกก็จะร่ายรำที่ท่าน้ำเพื่อส่งแพหรือรำในบริเวณที่ส่งเทวดา
๓) หากอยู่ห่างจากแม่น้ำลำคลองก็เอาของใส่คานหาบเพื่อให้เทพเจ้าและบริวารหาบของไปด้วย
๔) เสร็จแล้วทุกคนต้องอยู่ในความสงบ เพื่อป้องกันไม่ให้เทพเจ้าและคณะหวนกลับมาอีก