วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
02/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เวียงท่ากาน

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  เชียงใหม่

  • สถานที่ตั้ง เวียงท่ากานตั้งในเขตบ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

  • ประวัติความเป็นมา

จากหลักฐานทางด้านตำนานปรากฏชื่อว่า เมืองตระการ สันนิษฐานว่า น่าจะได้สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ สมัยพระเจ้าอาทิตยราชครองเมืองหริภุญไชย จากพงศาวดารโยนกได้กล่าวว่าเมืองนี้ในสมัยพญามังรายมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของ เชียงใหม่ มีชื่อว่า พันนาทะการ สมัยพระเจ้าติโลกราชได้ยกทัพไปตีเมืองเงี้ยวก็ยังได้นำเชลยเงี้ยวไปไว้ที่ พันนาทะการในปี พ.ศ. ๒๐๖๐ สมัยพระเมืองแก้วมีไทถิ่นต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์ก็ให้ไปตั้งบ้านเรือนที่เวียงพันนาทะการอีก จนในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองของพม่าตีได้เชียงใหม่และล้านนาไว้ในอำนาจให้พระเจ้า เมกุฏิครองเมืองเชียงใหม่ เวียงนี้ก็คงอยู่ในอำนาจของพม่าด้วย และภายหลังเจ้าองค์นกแข็งเมือง ปกครองตนเองและมีการต่อสู้กันจนเชียงใหม่ร้างไปในระยะปี
๒๓๑๘-๒๓๓๙ ประมาณ ๒๐ ปีเศษ พันนาทะการก็อาจจะร้างไปด้วย จนสมัยพระเจ้ากาวิละตีเชียงใหม่คืนมาได้ และได้ปราบปรามเมืองอื่น ๆ ก็ให้เมืองนี้เป็นที่อยู่ของชาวไทลื้อเมืองยอง ซึ่งให้อยู่ทั้งที่พันนาทะการและเมืองลำพูน

  • ลักษณะทั่วไป

เวียงท่ากาน มีลักษณะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๔๖๐ x ๗๔๐ เมตร ความกว้างของคูน้ำประมาณ ๘ เมตร สภาพคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นเขตเมืองนั้นยังมีสภาพตื้นเขิน เหลือสภาพแนวคูน้ำคันดินให้เห็น ๓ ด้าน บริเวณรอบเมืองโบราณมีสภาพเป็นเนินสูงกว่าที่นาโดยรอบ

  • หลักฐานที่พบ

๑. เจดีย์ทรงมณฑป ฐานสี่เหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบหก ก่ออิฐก่อดินฉาบปูน กว้างประมาณ ๓.๕ เมตร ส่วนยอดเจดีย์พัง ความสูงของเจดีย์ที่เหลือประมาณ ๓ เมตร ตัวเจดีย์ถูกลักลอบขุดเป็นโพรง
๒. เป็นโบราณสถาน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์ห่างประมาณ ๒๐ เมตร ขนาดประมาณ๖.๘ x ๘ เมตร พื้นที่เนินปกคลุมด้วยต้นไม้และวัชพืช พบแนวอิฐส่วนฐานวางตัวตามทิศตะวันออก - ตะวันตก ยาวประมาณ ๔ เมตร สูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร
๓. ศิลปวัตถุที่พบตามบริเวณเจดีย์ ส่วนใหญ่เป็นพระพิมพ์ดินเผา ที่เรียกชื่อว่า พระแผง(หรือกำแพงห้าร้อย) พระสาม พระสิบสอง พระบัวเข็ม พระคง พระเลี่ยงหลวง พระสามใบโพธิ์ พระร่มโพธิ์ ซึ่งเป็นวัตถุที่มีรูปลักษณะศิลปกรรมของสมัยหริภุญไชย นอกจากนี้ก็พบมูยาสูบ(กล้องยาสูบ) ตุ้มตาชั่งสัมฤทธิ์ ตุ้มแห ชามเวียงกาหลง คอสิงห์ดินเผา ศิลปวัตถุที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ โถลายครามจีนสมัยปลายราชวงศ์หยวน ขนาดสูงประมาณ ๓๘ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตรงกลางโถประมาณ ๓๒ เซนติเมตร เส้นรอบวงประมาณ ๑๐๖เซนติเมตร มีหูเล็ก ๆ เป็นรูปมังกร

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีเวียงท่ากาน

จากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ เชียงใหม่ - จอมทอง เลยอำเภอสันป่าตองไปประมาณ ๗ กิโลเมตร ถึงบ้านทุ่งเสี้ยว เลี้ยวซ้ายข้างป้อมตำรวจเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตรผ่านบ้านต้นกอกจึงถึงบ้านท่ากาน ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีเวียงท่ากาน