วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

กำแพงเมืองน่าน

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  น่าน

  • สถานที่ตั้ง กำแพงเมืองน่านตั้งอยู่ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ในพิกัดเส้นรุ้งที่ ๑๘องศา ๔๐ ลิบดา ๓๐ ฟิลิบดาเหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๐ องศา ๔๖ ลิบดา ตะวันออก บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน
  • ประวัติความเป็นมา

กำแพงเมืองน่าน เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองน่าน สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยเจ้างัวผาสุม เมื่อ พ.ศ.๑๙๖๙ ต่อมา พ.ศ.๒๐๖๐ เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่แม่น้ำน่านเปลี่ยนเส้นทางเจ้าสุมนเทวราชจึงโปรดให้ย้าย เมืองไปตั้งที่บริเวณดงพระเนตรช้าง (บ้านพระเนตรในปัจจุบัน) ต่อมาเจ้าอนันตวรฤทธิเดช จึงโปรดให้ย้ายเมืองกลับมาตำแหน่งเดิม และสร้างกำแพงขึ้นใหม่ตามแนวเดิม ตัวเมืองที่สร้างในครั้งนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวกำแพงก่ออิฐถือปูน ซุ้มประตูเป็นทรงเรือนยอด ตัวประตูเป็นไม้ มีการเปิด-ปิดตลอดเวลา โดยมีนายประตูเป็นผู้รักษาอาชญา และมีบทลงโทษสำหรับผู้ปีนป่ายกำแพงหรือรื้อกำแพงเมือง อาชญานี้ยกเลิกไปเมื่อครั้งเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็นเจ้านครน่าน กำแพงเมืองที่สร้างขึ้นมี
ประตูทั้ง ๔ ทิศดังนี้

ทิศตะวันออก มีประตูชัยซึ่งเป็นประตูที่เจ้าผู้ครองนครและเจ้านายฝ่ายในใช้ในการเสด็จ ล่องชลมารคสู่พระนครรัตนโกสินทร์ และประตูน้ำเข้มซึ่งคงเป็นประตูท่าน้ำ สำหรับการใช้ติดต่อค้าขายและเข้าออกสู่แม่น้ำน่านของประชาชนทั่วไป ต่อมาในสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้านครน่านองค์สุดท้ายได้โปรดให้รื้อแนวกำแพงด้านตะวันออก เพื่อนำอิฐบางส่วนไปสร้างเป็นสะพานกรุงศรีทอดข้ามแม่น้ำน่านเก่า (คลองหลวง)ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ และได้มีการตัดถนนสุมนเทวราชขึ้นไปตามแนวของกำแพงเมืองด้านตะวันออกนี้ใน สมัยต่อมา

ทิศเหนือ ประกอบด้วยประตูริมหรือประตูอุญญาณ ในแต่เดิมนั้นคงมีเพียงประตูเดียวต่อมาใน พ.ศ.๒๔๕๐ ได้มีการเจาะช่องประตูเพิ่มขึ้นอีก ๑ ช่อง คือประตูอมร อยู่ใกล้ตำแหน่งสี่แยกอมรศรี เพื่อให้พระยาอมรฤทธิดำรงข้าหลวงประจำเมืองในสมัยนั้นเดินเข้า-ออก

ทิศตะวันตก มีประตูปล่องน้ำ ซึ่งเป็นประตูที่ใช้ในการระบายน้ำจากบริเวณภายในตัวเมืองด้านเหนือซึ่งเป็น ที่ลุ่มน้ำ ออกสู่คูเมืองด้านนอก ประตูดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ในบริเวณถนนมหาวงศ์ตรงจุดที่ปรากฏซากกำแพงซึ่ง เหลืออยู่ในปัจจุบันเพียง ๕๐ เมตร เท่านั้น

ทิศใต้ มีประตูเชียงใหม่และประตูท่าลี่สำหรับให้ราษฎรที่อยู่ในเมืองและนอกเมืองไปมาหาสู่กันได้
ปัจจุบันกำแพงเมืองน่านที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์มีความยาวเพียง ๒๕ เมตร และสูง ๕ เมตร เท่านั้นเป็นแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ บริเวณถนนมหาวงศ์เชื่อมต่อกับถนนอนันตวรฤทธิเดชกรมศิลปากรได้บูรณะ ปฏิสังขรณ์แนวกำแพงดังกล่าวและส่วนที่ชำรุดทรุดโทรมได้ทั้งสิ้น ๔๑๕ เมตร เมื่อพ.ศ.๒๕๓๖ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ ตอนที่๖๔ ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๗

  • ความสำคัญต่อชุมชน

กำแพงเมืองน่านเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกถึงความมั่นคงของรัฐเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำน่านที่สามารถปกครองตนเองได้ แม้ต้องยอมอ่อนน้อมต่อหัวเมืองอื่นหลายครั้ง แต่เมืองน่านก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้ได้เป็นอย่างดี

  • ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ปรากฏหลักฐานกำแพงก่ออิฐทั้งอิฐสี่เหลี่ยมและอิฐบัว แนวกำแพงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านยาวทอดไปตามลำน้ำน่าน ความสูงจากระดับพื้นดินปกติซึ่งเป็นส่วนฐานของกำแพงถึงพื้นเชิงเทิน สูงประมาณ ๓.๘๐เมตร กำแพงกว้างประมาณ ๓.๕๐ เมตร เชิงเทินมีขนาดกว้าง ๒.๒๐ เมตร ทอดยาวไปตลอดตามความยาวของแนวกำแพง เหนือเชิงเทินประดับด้วยกำแพงใบเสมาคาดด้วย เส้นลวด ๒ ชั้น ความสูงประมาณ ๑ เมตรเหนือแนวกำแพงเป็นรูปใบเสมารูปสี่เหลี่ยมตัดมุมบน ๖๐ องศา ทั้งสองด้าน ใบเสมากว้าง ๐.๘๐ X ๑.๐๐ X๑.๒๐ เมตร ตรงมุมกำแพงทั้ง ๔ ด้าน ก่อป้อมและมีปืนประจำป้อมป้อมละ ๔ กระบอก ที่ประตูก่อเป็นซุ้มประกอบด้วยใบทวารแข็งแรง

  • เส้นทางเข้าสู่กำแพงเมืองน่าน

เดินทางมาตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๑ ถึงสี่แยกวัดศรีพันต้น เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสุริยพงษ์ ก่อนเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๙๑ (ไปจังหวัดพะเยา) เลี้ยวขวาไปตามถนนรอบเมืองด้านตะวันตกผ่านวิทยาลัยเทคนิคน่าน อีกประมาณ ๑๐๐ เมตร จะถึงบริเวณกำแพงเมืองน่าน ส่วนที่ยังคงสภาพสมบูรณ์