แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ - แหล่งเตาเมืองน่าน บ้านบ่อสวก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งเตาเมืองน่าน บ้านบ่อสวก

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  น่าน

  • สถานที่ตั้ง บ้านบ่อสวก หมู่ที่ ๑ ตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

  • ประวัติความเป็นมา

ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานเอกสารชิ้นใดกล่าวถึงเรื่องการผลิตเครื่องเคลือบไว้เลย แต่ เหตุการณ์ก็น่าจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความเหมาะสมของสถานการณ์และระยะเวลาที่ทำ ให้เมืองน่านสามารถพัฒนาวิทยาการการผลิตเครื่องเคลือบของตนเองขึ้นมาได้ ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อย เหมือนกัน ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่๒๐ เป็นต้นมา กิจการการผลิตเครื่องเคลือบอยู่ในระยะพัฒนาถึงขั้นเจริญเต็มที่ โดยเฉพาะในสมัยเจ้าพญาพลเทพฤาชัย (พ.ศ. ๒๐๗๑ - ๒๑๐๒) ซึ่งเดิมเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งวิทยาการทั้งมวล ดังนั้นหลักฐานโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดี บ้านบ่อสวก ได้มีลักษณะคล้ายกับที่พบในเชียงใหม่

  • ลักษณะทั่วไป

ลักษณะของผลผลิตจากแหล่งเตาเผาบ่อสวก ได้แก่ ภาชนะประเภท ชาม ครก และไห รูปแบบของผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบ
๑. ชามและจาน รูปแบบมีความคล้ายคลึงกับผลผลิตจากแหล่งเตาสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย และแหล่งเตาในกลุ่มล้านนา กลุ่มกาหลง - วังเหนือ แต่ในเรื่องของการเคลือบผิวภาชนะด้วยน้ำเคลือบสองสี และแบบเขียนลายใต้เคลือบนั้น เครื่องเคลือบเมืองน่านคล้ายกับเครื่องเคลือบกลุ่มล้านนา
๒. ครก สำหรับรูปแบบครกผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาเมืองน่านนั้น มีลักษณะทรงเตี้ย ก้นและปากกว้างมีขอบฐานเตี้ย ๆ และเคลือบผิว
๓. ไห หลักฐานที่เป็นชิ้นส่วนของไหที่พบในแหล่งเตาเผาบ้านบ่อสวกมีไห ๒ ลักษณะ คือ ไหขอบปากสองชั้น และไหขอบปากชั้นเดียว ชนิดของเคลือบเป็นเคลือบสีเขียวอ่อนอมเทา และเคลือบสองสี

เทคนิคการเรียงภาชนะในเตาเผาและอุปกรณ์ประเภทกล่องดิน
กล่องดิน หรือ Saggers เป็นอุปกรณ์ที่พบมากในแหล่งเตาเมืองน่าน วิธีเรียงตั้งภาชนะประเภทชาม -จาน จะบรรจุภาชนะในกล่องดิน โดยวิธีปากประกบปาก ก้นซ้อนกัน

  • หลักฐานที่พบ

ซากเตาบ้านบ่อสวก จาน ชาม ครก และไห เป็นต้น

เส้นทางเข้าสู่แหล่งเตาเมืองน่าน บ้านบ่อสวก
อยู่ในท้องที่บ้านบ่อสวก ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑๔ กิโลเมตร