แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ - เวียงท่าวังทอง หรือ เวียงประตูชัย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เวียงท่าวังทอง หรือ เวียงประตูชัย

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  พะเยา

  • สถานที่ตั้ง บ้านประตูชัย ตำบลท่าวังทอง-ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
  • ประวัติความเป็นมา

เวียงท่าวังทองเริ่มมีการอยู่อาศัยในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นอย่างเก่าที่สุดและเจริญรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เพราะพบหลักฐานมากในช่วงเวลานี้รวมทั้งศิลาจารึกที่กล่าวถึงการสร้างวัดต่าง ๆ หลายแห่งและมีหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าเวียงนี้น่าจะเป็นตัวเมืองหรือเป็น ศูนย์กลางการปกครองของเมืองพะเยาคือจากเวียงนี้มีแนวคันดินเป็นเส้นทาง คมนาคมหลายสายตัดออกไปติดต่อกับเวียงหรือชุมชนอื่น ๆ หลายแห่งตามพันนาต่างๆ เวียงนี้จึงมีลักษณะเป็นจุดศูนย์รวมหรือชุมชนหลักของเมืองเช่นเดียวกับเวียง พะเยา ซึ่งสันนิษฐานว่าท่าวังทองและเวียงพะเยาเป็นชุมชนเดียวกัน โดยเวียงหนึ่งเป็นศูนย์การปกครองและอีกเวียงหนึ่งเป็นย่านการค้า ส่วนเวียงใดเกิดขึ้นก่อนและมีการขยายมาสร้างอีกเวียงเมื่อไรนั้น ไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันได้แน่ชัด แต่น่าสังเกตว่ามีการกล่าวถึงเวียงพะเยา ๒ เวียงอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เล่าเรื่องตอนพระยาคำฟูกับพระยากาวน่าน ร่วมกันตีเมืองพะเยาว่า พระยาทั้งสองก็ริพลคนศึกเข้าไปปล้นเอาเวียงพระยางำเมืองทั้งสองเวียง

  • ลักษณะทั่วไป

เวียงท่าวังทองมีรูปร่างคล้ายผลน้ำเต้า วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยส่วนหัวขั้วของผลน้ำเต้าจะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร จากนั้นแนวคูเมืองจะผายออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้เป็นส่วนลำตัวของผลน้ำเต้า มีความกว้างประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ส่วนความยาวที่สุดจากขั้วน้ำเต้าทางตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงแนวคูเวียงด้านตะวันตกประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร
ลักษณะคูน้ำมีเพียงชั้นเดียว มีคันดินเตี้ย ๆ ขนาบอยู่ทั้ง ๒ ฝั่งคูน้ำ แต่ละส่วนมีความกว้างและลึกไม่เท่ากัน ทางด้านเหนือกว้างประมาณ ๒๑ เมตร ทางด้านตะวันออกกว้างประมาณ๑๖ เมตร ส่วนที่ผ่านที่ลุ่มคูจะไม่ลึกมาก เฉลี่ยประมาณ ๕ เมตร ส่วนที่ตัดผ่านที่เนินสูง คูจะลึกกว่าปกติ คันดินมีขนาดเล็กมาก สภาพของคูน้ำคันดินของเวียงปัจจุบันเหลือเฉพาะด้านเหนือและตะวันออกบางส่วน เท่านั้น ส่วนทางใต้และตะวันตกถูกไถทำลาย เพื่อสร้างถนน บ้านเรือนไปเกือบหมดแล้ว
สภาพภายในเวียงปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการและที่อยู่อาศัย สลับกับพื้นที่เพาะปลูกทำสวนผลไม้ และทำไร่

  • หลักฐานที่พบ

บริเวณภายในเวียงมีบ่อน้ำ-สระน้ำ อยู่หลายแห่ง และมีซากวัดร้างอยู่ทั่วไป แต่ไม่อยู่ในสภาพที่จะสามารถศึกษารูปแบบศิลปกรรมได้ เนื่องจากพังทลายมาก และบางส่วนฝังอยู่ใต้ดิน วัดที่ยังคงสภาพอยู่ในปัจจุบันคือวัดสิบสองห้องหรือวัดศรีจอมเรืองและวัดลี ซึ่งมีเจดีย์แบบล้านนาอยู่ ๑ องค์ ได้ซ่อมแซมบูรณะในสมัยหลังจนดูผิดส่วนไป แต่จากร่องรอยลายปูนปั้นในบริเวณส่วนฐานบัว สามารถกำหนดอายุได้ว่าอยู่ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โบราณวัตถุจำนวนมากที่พบในเวียงนี้ ได้รวบรวมไว้ที่วัดลี ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมหินทราย ได้แก่ พระพุทธรูป สถูปจำลอง รูปสัตว์ ฐานส้วม ครกหิน มีหลักฐานสำคัญคือศิลาจารึก ๔ หลัก ที่พบในเขตเวียงนี้ ได้แก่ จารึกวัดลี (พ.ศ. ๒๐๓๘) จารึกวัดพระเกิด (พ.ศ.๒๐๕๖) จารึก
วัดสิบสองห้อง (พ.ศ. ๒๐๕๘) และจารึกวัดสุวรรณาราม

หลักฐานจากการสำรวจผิวดิน พบเศษภาชนะดินเผา ทั้งแบบธรรมดาและเครื่องเคลือบ มีปริมาณไม่มากนัก เครื่องเคลือบที่พบมีทั้งของเตาในล้านนา คือ เตาพานเป็นภาชนะเคลือบสีเขียว ขูดขีดลวดลายเป็นรูปดอกไม้ ๔ กลีบ เตาเวียงกาหลง เป็นแบบเขียนลายสีดำใต้เคลือบ และภาชนะจากเตาของเมืองพะเยาเองที่ตั้งอยู่บริเวณม่อนออม ทางใต้ของเวียงพะเยานี้ รวมทั้งเครื่องลายครามของจีน สมัยราชวงค์หมิง เขียนลายเป็นรูปตัวอักษรภาษาสันสกฤต เป็นต้น หลักฐานทั้งหมดนี้ สามารถกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่๒๐-๒๑

หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเวียงนี้พบว่ามีชั้นดินอยู่อาศัยต่อ เนื่องกันมาเพียงชั้นเดียว โดยพบหลักฐานเศษภาชนะดินเผา คล้ายคลึงกับที่ทำการสำรวจบนผิวดิน และได้พบเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงและชิงตอนต้น ทำให้ตีความได้ว่าเวียงนี้ เริ่มมีการอยู่อาศัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา

  • เส้นทางเข้าสู่เวียงท่าวังทอง

จากตัวเมืองพะเยาไปทางตะวันออกประมาณ ๑๐๐ เมตร