แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ - เมืองเก่าศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เมืองเก่าศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  เพชรบูรณ์

  • สถานที่ตั้ง

เมืองศรีเทพ เป็นเมืองโบราณตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ห่างจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำป่าสักประมาณ ๘ กม.

  • ประวัติความเป็นมา

ปัจจุบันเมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซากเมืองโบราณนี้ถูกพบครั้งแรกในขณะที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเดินทาง ไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ใน พ.ศ.๒๔๔๘ลักษณะของเมืองโบราณมีคูน้ำและกำแพงดินขนาดใหญ่มากล้อมรอบ เป็นรูปวงกลมซ้อนกันอยู่ ๒ วง ซึ่งสันนิษฐานกันว่าแนวคูเมือง กำแพงเมืองที่ซ้อนกันนั้น จะเป็นการขยายตัวของชุมชนในภายหลัง โบราณสถานที่พบทั้งที่อยู่ภายในเมืองและนอกเมืองนั้นมีกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นของประชากร และโบราณสถานเหล่านั้นได้ชี้ให้เห็นถึงลำดับสมัยและช่วงระยะเวลาของการก่อ สร้างที่แตกต่างกันประกอบกับโบราณวัตถุจำนวนมากที่พบทั้งที่เป็นประติมากรรม เนื่องในศาสนา ซึ่งมีความงดงามยิ่งกว่าที่พบในแห่งใด ๆ และวัตถุหลักฐานอื่น ๆ ทำให้สรุปได้ว่าเมืองศรีเทพเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการที่ติดต่อกันมาเป็นเวลา ยาวนาน นับตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา และถูกทอดทิ้งร้างไปในที่สุดหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๘

  • ลักษณะทั่วไป

ลักษณะผังเมืองประกอบไปด้วยพื้นที่ ๒,๘๘๙ ไร่ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ เมืองส่วนในและเมืองส่วนนอก เมืองส่วนในมีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ กม. มีช่องทางเข้าออก ๘ ช่องทางพื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนคลื่น มีสระน้ำและหนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป มีโบราณสถานที่ขุดแต่งแล้วและยังไม่ได้ขุดแต่งประมาณ ๗๐ แห่ง ส่วนเมืองชั้นนอกลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อกับเมืองส่วนใน มีช่องทางเข้าออก ๗ ช่องทาง มีโบราณสถานกระจายอยู่แบบเดียวกับเมืองส่วนใน เช่น โบราณสถานเขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง เป็นต้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะและตกแต่งบริเวณสวยงาม เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจยิ่ง

  • หลักฐานที่พบ

๑. ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะขอม หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ส่วนฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟัก แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่ว ๆ ไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ แต่ไม่สำเร็จโดยได้พบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย

๒. ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ ๒ องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ มีประตูเข้าทางเดียว จากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช อายุของปรางค์อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนของนครวัดและได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่อยู่ใต้ปรางค์องค์ เล็ก และยังมีการก่อปิดทางนี้ โดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น

๓. โบราณสถานเขาคลังใน ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นผังพื้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุ ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคลและสัตว์ประดับ เป็นศิลปะแบบทวาราวดี จากลักษณะผังเมืองจะเห็นว่าเขาคลังในตั้งอยู่เกือบกลางเมืองเช่นเดียวกับ เมืองทวาราวดีอื่น ๆ เช่น นครปฐมโบราณ เมืองคูบัว ราชบุรี และ จากรายละเอียดปูนปั้นบุคคลหรือลวดลาย มีลักษณะแบบเดียวกับเมืองคูบัวโบราณ บ้านโคก จังหวัดนครสวรรค์ และวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี อายุสมัยการก่อสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒

๔. เขาถมอรัตน์ เป็นเขาเล็ก ๆ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำป่าสัก ที่ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ห่างจากถนนลำนารายณ์-เพชรบูรณ์ ประมาณ ๗ กม. เกือบถึงยอดเขามีถ้ำ ปากถ้ำอยู่ทางทิศเหนือ ภายในถ้ำมีความกว้างขวางพอสมควร มีเนื้อที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๑๐เมตร ความลึกประมาณ ๒๑ เมตร เพดานถ้ำสูงราว ๑๒ เมตร ตรงกลางมีหินย้อยเป็นเสาใหญ่ ตั้งอยู่ในถ้ำมีภาพจำหลัก พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ สมัยทวาราวดี มีพระพุทธรูปประทับยืนสูงประมาณ ๒ เมตรเศษและมีรูปสลักพระพุทธรูปยืนขนาดเล็ก และพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิรวมทั้งหมด ๑๑ องค์

  • เส้นทางเข้าสู่เมืองเก่าศรีเทพ

เมืองเก่าศรีเทพอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๒๒๙ กม. ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรี ประมาณ ๒๕ กม.และห่างจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ๑๑๗ กม. ริมทางสายสระบุรี-หล่มสัก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑)แยกขวามืออีก ๘ กิโลเมตรจะถึงแยกขวาเข้าอุทยานประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพ ระยะทาง ๑ กม.