แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ - กลุ่มเตาเผาทุเรียงบ้านเกาะน้อย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

กลุ่มเตาเผาทุเรียงบ้านเกาะน้อย

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  สุโขทัย

  • สถานที่ตั้ง อยู่ภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ห่างจากวัดศรีชุมประมาณ ๕๐๐ เมตร ห่างจากแหล่งเตาเผาบ้านป่ายาง ๔ กิโลเมตร

  • ประวัติความเป็นมา

เตาทุเรียง คือ เตาสำหรับเผาเครื่องถ้วยชามต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย หรือรู้จักกันในนามเครื่องสังคโลก

  • ลักษณะทั่วไป

เตาเผาทุเรียงบ้านเกาะน้อยพบตลอดริมฝั่งแม่น้ำยม กระจายอยู่ภายในรัศมี ๑.๕ กิโลเมตร เท่าที่สำรวจพบแล้วมีประมาณ ๒๐๐ เตา โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑. เตาตะกรับ เป็นเตาเผาชนิดระบายความร้อนไหลผ่านตามแนวดิ่งและแนวตั้งให้ความร้อนไม่เกิน ๙๐๐ องศาเซลเซียส ลักษณะรูปร่างกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑-๒ เมตร แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ห้องบรรจุภาชนะตอนบนเป็นแผ่นดินเหนียวเจาะรูกลมเพื่อระบายความร้อน และห้องใส่ไฟอยู่ข้างล่าง
๒. เตาประทุน เป็นเตาเผาชนิดระบายความร้อนไหลผ่านในแนวนอนเช่นเดียวกับเตาทุเรียงที่บ้านป่ายาง

  • หลักฐานที่พบ

กลุ่มเตาเผาที่สำคัญที่ได้ดำเนินการสำรวจและขุดค้นพร้อมทั้งอนุรักษ์ และจัดทำอาคารจัดแสดงคือ
กลุ่มเตาเผาหมายเลข ๖๑ มีเตาใต้ดิน ๔ เตา เป็นเตาขุดลงไปในดิน ภาชนะที่พบส่วนใหญ่เป็นไหขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำ หรือของแห้ง
กลุ่มเตาเผาหมายเลข ๔๒ เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทำให้ทราบถึงการพัฒนาการเตาเผาและสิ่งผลิตจากเตา เพราะภายในใต้ดินนั้นขุดพบเตาเผาสังคโลกที่ทับซ้อนกันอยู่ถึง ๑๙ เตา

  • เส้นทางเข้าสู่กลุ่มเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย

จากศาลากลางจังหวัดสุโขทัยไปทางทิศตะวันตก ตามทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๖ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร