วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

พระราชวังเดิม

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  กรุงเทพมหานคร

พระราชวังเดิม คือ พระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อครั้งที่พระองค์กู้เอกราชและทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็น ราชธานี ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๒๕

  • สถานที่ตั้ง

พระราชวังเดิม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางกอกใหญ่ ขนาบด้วยวัด ๒ ข้า คือ วัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) และวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) ด้านหลังวัดอรุณฯ ที่ตั้งเดิมของพระราชวังนี้เป็นบริเวณที่ตั้งของป้อมวิชาเยนทร์ ที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลือกที่นี่เป็นที่ตั้งของพระราชวังพร้อมทั้งรื้อ ป้อมวิชาเยนทร์ สร้างใหม่แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิชัยประสิทธิ์

  • อาณาเขตพระราชวังเดิม

อาณาเขตของพระราชวังเดิมครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าประกอบด้วยพื้นที่ ๒ แห่ง คือ พื้นที่ภายในกำแพงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เรียกว่าพระราชวังเดิมชั้นใน ส่วนนอกกำแพงออกไป เรียกว่าพระราชวังชั้นนอก สันนิษฐานว่า มีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ จดคลองนครบาล ซึ่งเป็นแนวคลองเขตวัดแจ้ง
ทิศตะวันออก จดแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศใต้ ส่วนหนึ่งจดคลองบางกอกใหญ่ มีป้อมวิชัยประสิทธิ์ตั้งอยู่ตรงมุม อีกส่วนหนึ่งจดกับ
วัดท้ายตลาด หรือวัดโมลีโลกยาราม
ทิศตะวันตก จดแนวคลองหลังวัดอรุณราชวราราม

  • ประวัติความเป็นมา

เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้เอกราชของชาติไทยคืนจากพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว กรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่าเผาเสียหายเป็นอันมาก ไม่อาจซ่อมแซมบูรณะให้คืนสภาพเดิมได้ จึงทรงย้ายราชธานีใหม่ เป็นบริเวณเหนือคลองบางหลวง ธนบุรี และทรงสร้างพระราชวัง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ ทรงย้ายราชธานีไปตั้ง ณ ฝั่งพระนคร ทรงสร้างพระราชวังใหม่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดให้กั้นเขตพระราชวังเดิมให้แคบกว่าเก่าและทรงโปรดฯ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ พระโอรสองค์กลางของสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่เสด็จไปประทับ ครั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์สิ้นพระชนม์ จึงทรงโปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม เมื่อพระราชทานอุปราชอภิเษกเป็นพระมหาอุปราชกรมหลวงพระราชวังบวรฯ แล้วก็ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมจนสิ้นรัชกาลที่ ๑

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิทักษ์มนตรี เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม ครั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ จึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิมเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ เป็น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลนั้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีเสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมพร้อม ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีทรงเสด็จสวรรคตที่พระราชวังเดิมนี้

ในสมัยรัชกาลที่ ๔
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับบวรราชาภิเษกแล้วเสด็จไปประทับ ณ พระบวรราชวัง กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสของพระองค์ได้เสด็จประทับต่อมา จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังประทานแล้ว กรมหมื่นบวรไชยชาญได้เสด็จไปประทับที่วังใหม่ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิมจน สิ้นพระชนม์

ในสมัยรัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังเดิม ครั้นเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์ พระราชวังเดิมจึงว่างลง พลเรือโทพระชลยุทธโยธินทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือได้หารือกับกรมหมื่นมหิศราชหฤทัยเสนาบดีกระทรวงการคลัง มหาสมบัติ จะทูลขอพระราชวังเดิมเป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือเพราะที่ดินติดกับแม่น้ำ และใกล้กับที่ว่าการกรมทหารเรือ กรมหมื่นมหิศราชหฤทัย จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบตามคำกราบบังคมทูล จึงพระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๓ และทรงขอให้รักษาซ่อมแซมของที่ปลูกสร้างมาแต่เดิม ได้แก่ ท้องพระโรง พระตำหนักเก๋ง
ศาลเจ้าตาก ศาลศรีษะปลาวาฬ

กองทัพเรือได้ซ่อมแซม และดัดแปลงต่อเติมตำหนัก และเรือนพักให้เป็นกองบังคับการโรงเรียนนายเรือ อาคารเรียนและอาคารนอนของนักเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรือตั้งอยู่ที่พระราชวังเดิมตลอดมา จน พ.ศ. ๒๔๘๕ มีจำนวนนักเรียนนายเรือมากขึ้น อาคารโรงเรียนนายเรือในบริเวณพระราชวังเดิมไม่พอกับจำนวนนักเรียน กองทัพเรือจึงได้สร้างโรงเรียนนายเรือขึ้นใหม่ที่เกล็ดแก้ว สัตหีบ และได้ย้ายไปอยู่ที่สัตหีบ ต่อมามีหน่วยราชการของกองทัพเรือได้เข้ามาใช้อาคารภายในบริเวณพระราชวังเดิม เช่น กรมเสนาธิการทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ต่อมากรมเสนาธิการทหารเรือถูกยุบในปี ๒๔๙๘ และปัจจุบันกรมสื่อสารทหารเรือได้ใช้อาคารของกรมเสนาธิการทหารเรือเดิมเป็น ที่ทำงาน
ภายในกองพระราชวังเดิมมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่ได้รับการบูรณะรักษาไว้ ดังนี้ คือ

๑. กำแพงพระราชวังเดิม
๒. ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓. พระตำหนักเก๋งคู่
๔. ท้องพระโรง
๕. ระฆังจีน
๖. พระตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
๗. เขาดิน
๘. ป้อมวิชัยประสิทธิ์
๙. ป้อมหมอบรัดเลย์

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือศาลเจ้าตากนี้ สันนิษฐานว่าคงมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่คงเป็นเพียงศาลพระภูมิประจำพระราชวังเท่านั้น ต่อมาสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิมนี้ คงจะได้ก่อสร้างซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ ขึ้นในบริเวณพระราชวังเดิม ซึ่งคงจะมีศาลเจ้าตากอยู่ด้วย เพราะพระองค์เสด็จประทับที่พระราชวังเดิมเป็นเวลานานถึง ๒๗ ปี และในระหว่างที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ประทับ ณ พระราชวังเดิมนั้น ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ชำรุดปรักหักพังลง จึงทรงสร้างขึ้นใหม่แทน

พระตำหนักเก๋งคู่
เก๋งจีน ๒ หลังคู่ อยู่ริมประตูพระราชวังด้านตะวันออกนั้น หลังในเป็นที่บรรทมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พื้นชั้นล่างก่ออิฐโบกปูน ชั้นบนเป็นไม้สูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง มีร่องเจาะไว้สำหรับลงพระบังคน ส่วนกรอบล่างของหน้าต่างเก๋งจีนทั้ง ๒ หลังได้มีสลักลวดลายสวยงาม เรียกว่า "หย่อง" ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าพระตำหนักเก๋งคู่เป็นสถานที่ประทับของพระมหา กษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์มาก่อน
ท้องพระโรง

เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างพระราชวังขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระราชวังประกอบด้วย ท้องพระโรง พระตำหนักเก๋งคู่ พระตำหนักพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงใช้ท้องพระโรงเป็นสถานที่ทรงประกอบการกิจทั้งปวง
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ยังทรงสร้างพระราชวังใหม่ทางฝั่งพระนครไม่เสร็จ ทรงประทับที่พระราชวังเดิมนี้ประมาณ ๒ เดือนเศษ ก็ทรงเสด็จออกว่าราชการ ณ ท้องพระโรงนั้น
ในสมัยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม ทรงใช้ท้องพระโรงเป็นสถานที่ประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมสมเด็จพระสุริเยนทรามาตย์ เป็นต้น

ระฆังจีน
ระฆังจีนเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญของพระราชวังเดิม ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงชั้นนอก มีความสูง จากปากระฆังถึงก้นระฆัง ๒๔ นิ้ว วงปากระฆังวัดโดยรอบ ๘๒ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางที่ปากระฆัง ๒๖ นิ้ว หูแขวนระฆังทำเป็นมังกรคาบแก้วแบบจีนมี ๒ หัว ตัวติดกัน ขามังกร ๔ ขา จับต่อระฆัง ๔ มุมพอดี ที่กลางมังกรมีห่วงใส่สำหรับแขวนระฆัง

ระฆังใบนี้ พระรัตนมุนี เจ้าอาวาสวัดหงษาราม (วัดหงส์รัตนาราม) ถวายพลเรือเอกสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา ผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ พร้อมกับแท่นพระเจ้าตาก ๑ แท่น เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ กรมยุทธโยธาทหารเรือ (กรมอู่ทหารเรือปัจจุบัน) ได้ทำหลักสำหรับแขวน ที่ตัวระฆังมีอักษรจีนปรากฏอยู่ แปลเป็นไทยว่า
"หลวงจีนอิ้งเต็ง แห่งวัดไตรรัตน์ เมืองห้องเชียง ยืนยันว่ามารดา อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายพ้นจากกรรมเวรชาติก่อน โดยกุศลผลบุญเพิ่มพูนมากขึ้น จึงไปจุติในภพใหม่ อันมีแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง"

อีกด้านสลักว่า "สลักเมื่อปีชวด เดือนเหมันต์ วันมหามงคล ตรงกับปีที่ ๑๕ พระเจ้าเกียหลง"
ฐานของระฆังที่กรมยุทธโยธาทหารเรือทำขึ้น ตามพระราชประสงค์ของพลเรือเอกสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา ทำแบบไทย เป็นเสากลม ตั้งอยู่บนฐานทั้งสองข้าง ที่หัวเสาแกะปั้นเป็นรูปบัวหงาย โคนเสามีหูช้างขนาบข้างสองด้าน ที่ใบหูแกะเป็นลายไทยงดงาม บนหัวเสาทั้งสองเป็นพญานาค (แบบไทย) ๒ ข้างเกาะไว้กับหัวเสาตัวละข้างชูเศียรสู่ฟ้าอย่างสง่างาม พาดหางมาบรรจบกันที่จุดศูนย์กลางสำหรับแขวนระฆังพอดี ตวัดปลายหางที่ไขว้กัน ชี้ชันเบื้องบนอ่อนช้อยสวยงาม
พระตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้า (เก๋งพระปิ่น)

เก๋งพระปิ่นเป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นขณะเสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม เมื่อทรงได้รับพระราชทานพระบรมราชาภิเษก ปรากฏพระนามตามพระสุพรรณบัฏเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปประทับที่พระบวรราชวัง คำว่า "เก๋งพระปิ่น" จึงเกิดขึ้นเป็นอนุสรณ์ตามพระนามของพระองค์ท่าน ต่อมากรมหลวงวงศาธิราชสนิท เสด็จมาประทับที่เก๋งพระปิ่นจนสิ้นพระชนม์
ปัจจุบันชั้นบนของเก๋งพระปิ่นใช้เป็นที่ทำการของผู้ชำนาญการกองทัพเรือ ชั้นล่างใช้เป็นห้องผลิตภาพ กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

เขาดิน
เขาดินเป็นมูลดินอยู่ตรงข้ามกรมสื่อสารทหารเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระเจ้าจักรพรรดิพงศ์ ทรงสร้างไว้เพื่อประดับประดาสถานที่ให้สวยงาม เดิมมีต้นไม้ใหญ่หลายต้น เช่น พิกุล หูกวาง จัน มูลดินนี้คงเกิดจากการนำดินที่ขุดสระในบริเวณพระราชวังเดิม เพราะปรากฏตามหลักฐานว่าสมัยที่สมเด็จพระปิ่นเกล้า เจ้าอยู่หัว ประทับ ณ พระราชวังเดิมนั้น มีสระน้ำยาวไปตามกำแพงอยู่แล้ว ต่อมาสมัยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ได้ทรงขุดเพิ่มเติมจนถึงเขาดินทางมุมด้านตะวันออกเฉียง ใต้ของกำแพง บริเวณที่ตั้งกรมสื่อสารทหารเรือ สระนี้เป็นที่อาบน้ำ และพายเรือเล่นสำหรับฝ่ายใน ไขน้ำออกทางวัดท้ายตลาดได้ สระนี้ถูกถมไปเมื่อมีการสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนนายเรือ ภายหลังปี ๒๔๔๓

ป้อมวิชัยประสิทธิ์
ป้อมวิชัยประสิทธิ์ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ไม่ปรากฏ พ.ศ. ที่สร้าง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯ ให้บาทหลวงโทมาส ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้สร้างป้อมขึ้นตามตำบลต่าง ๆ หลายป้อม โดยมากไม่ปรากฏนามและปีที่สร้าง แต่ที่ปรากฏให้สร้าง ปี พ.ศ. ๒๒๐๘ คือ ที่เมืองลพบุรีแห่งหนึ่ง เมืองนครศรีธรรมราชแห่งหนึ่ง ที่เมืองนครราชสีมาแห่งหนึ่ง เมืองตะนาวศรีแห่งหนึ่ง และที่ปากคลองบางกอกใหญ่เมืองธนบุรีอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า ป้อมวิชาเยนทร์ ซึ่งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นผู้กำกับการสร้าง ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานนามใหม่ว่า ป้อมวิชัยประสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีป้อมที่บาทหลวงโทมาสสร้างทางฝั่งตะวันออกของเมืองธนบุรีอีก หลายป้อม ตรงที่ตั้งโรงเรียนราชินีปัจจุบันด้วยแห่งหนึ่ง ต่อมาสมเด็จพระเพทราชา โปรดเกล้าฯ ให้รื้อ คงไว้แต่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ป้อมเดียว อยู่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปากคลองบางกอกใหญ่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นสถานศึกษาวิชาการทหารเรือ คือ โรงเรียนนายเรือป้อมวิชัยประสิทธิ์จึงอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือตั้งแต่ นั้นมา ปัจจุบันกองทัพเรือใช้ป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นโบราณสถานแห่งชาติ

ด้านหลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งของสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูงในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบให้หมอบรัดเลย์เช่าเพื่อทำกิจการทางด้านการแพทย์ มิชชันนารี และตั้งโรงพิมพ์ หมอบรัดเลย์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๑๖ แหม่มซาราห์ภรรยาได้ดำเนินการต่อมาอีก ๒๐ ปี จนถึงแก่กรรม ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๓ กองทัพเรือต้องการจะซื้อที่ดินแปลงนี้คืนจากทายาทชื่อแหม่มคัทลิน แต่ทางทายาทได้นำสัญญาเช่ามาคืน กระทรวงกลาโหม จึงมอบโล่ให้เป็นเกียรติยศในฐานะผู้ช่วยเหลือทางราชการ

เอกสารอ้างอิง
ทิพวรรณ ยุทธโยธิน และขันธ์ สกุลสีมา. "รายงานการทัศนศึกษาเมืองธนบุรีเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๓๕."
สรุปผลการประชุมทางวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์เมืองธนบุรี : ๔-๖ สิงหาคม ๒๕๓๕, กรุงเทพฯ : ๒๕๓๘,
หน้า ๘๐-๘๖